ช้างไทยไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์

วันที่ 13 มีนาคม เป็นวันช้างไทย ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องช้างหลายฝ่ายได้จัดกิจกรรมให้กับช้าง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและมีความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของช้างไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ได้เน้นการทำกิจกรรมเพื่อปลูกฝังเด็กและเยาวชนที่จะเป็นผู้สานต่อในเรื่องการดูแลรวมถึงการอนุรักษ์ช้างไทย ขณะที่อัตราการขยายพันธ์ของช้างมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์

ความสำคัญของช้างไทยนั้น เชื่อแน่ว่าหลายท่านก็คงมีความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างกัน เพราะนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันช้างมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ในอดีตก็เคยใช้ช้างออกศึกต่อสู้กับอริศัตรูราช จนได้รับเอกราชความเป็นไทยมาจนถึงวันนี้ กระทั่งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระราชโองการสั่งให้มีการนำรูปช้างมาปรากฏโดดเด่นปลิวไสวไว้บนผืนธงชาติไตรรงค์
ดินแดนในเอเชียอาคเนย์นับได้ว่าเป็นถิ่นกำเนิดที่ใหญ่ที่สุดของช้างเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งเคยมีช้างป่าและช้างเลี้ยงอยู่มากมายนับแสนเชือก ปัจจุบันคงเหลือช้างอยู่ทั่วในประเทศไม่ถึง 5 พันเชือก ส่วนช้างที่เหลืออยู่นั้นก็มีสภาพความเป็นอยู่ไม่เหมาะสมเท่าที่ควร จนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกลงความเห็นว่า ช้างเป็นสัตว์ที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด

นายสุนทร ฉายาวัฒนะ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า จากตัวเลขการประเมินประชากรช้างป่าที่เคยสำรวจไว้เมื่อหลายปีก่อนภาพรวม ยังคงมีตัวเลขราว 3,500-4,000 ตัวกระจายในป่าอนุรักษ์ 68 แห่งที่พบช้างป่าอาศัยใน 7 กลุ่มป่า ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก เช่น แก่งกระจาน สลักพระ ห้วยขาแข้ง จำนวน 400-600 ตัวกลุ่มป่ารอยต่อตะวันออก 5 จังหวัด จำนวน 300-400 ตัว กลุ่มป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เช่น ภูเขียว น้ำหนาว เขาใหญ่ ตาพระยา 500-600 ตัว จำนวนกลุ่มป่าภาคใต้คลองแสง-เขาสก จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 100-150 ตัว และกลุ่มป่าภาคเหนือ จำนวน 110-300 ตัว และมีข่าวดีว่าประชากรช้างป่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 (ที่มา : ไทยพีบีเอสนิวส์)

งานวันช้างไทยที่เชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ นับได้ว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อในด้านธรรมชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสถานท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภท นั่งช้างทัวร์ป่าก็ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ว่ากันว่าตั้งแต่บริเวณ อำเภอแม่ริมขึ้นไปจนถึง อำเภอเชียงดาวมีปางช้างอยู่หลายสิบแห่ง มีจำนวนช้างที่อาศัยอยู่ในปางอีกกว่าหลายร้อยเชือก และจากความสำคัญของช้างที่มีอยู่มากมายนี้เอง ทำให้หน่วยงานเอกชนและรัฐบาลที่ดูแลในเรื่องช้างได้มีการจัดงานในวันช้างไทยขึ้น เพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้ร่วมใจกันตระหนักถึงความสำคัญของช้างและร่วมอนุรักษ์ช้างไทย นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมในด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นรวมไปถึงการปลูกฝังเด็กและเยาวชนในเรื่องของการอนุรักษ์ช้าง

เราจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่อดีตมีการนำช้างเข้ามาใช้งานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการสู้รบของพระมหากษัตริย์ไทย การชักลากไม้รวมไปถึงการนำช้างเข้ามาใช้ในระบบการท่องเที่ยว ซึ่งตลอดช่วงเวลาในแต่ละปีนั้น ช้างจะทำงานหนักมากไม่มีวันหยุด ดังนั้นเนื่องในวันที่ 13 มีนาคม คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้เป็นวันช้างไทยนั้น ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบและดูแลเรื่องช้างได้มีการจัดกิจกรรมให้กับช้างมากมาย

งานวันช้างไทย นับเป็นอีกงานหนึ่งที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสร้างสรรค์ประโยชน์ ปลูกจิตสำนึกของคนให้หันมาสนใจปัญหาของช้าง รวมไปถึงยังเป็นแนวทางหนึ่งในการที่จะอนุรักษ์สายพันธุ์ของช้างให้คงอยู่ เพราะปัญหาของช้างที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง ทว่าปัญหาและผลกระทบของช้างถือเป็นปัญหาส่วนรวม หากเกิดอะไรขึ้นกับช้างไทยย่อมส่งผลกระทบเสียหายต่อประเทศและการท่องเที่ยว
โดยกิจกรรมในวันที่ 13 มีนาคม ทางศูนย์อนุรักษช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ได้จัดกิจกรรมขันโตกช้างนำอาหารผลไม้ใส่ในขันโตกยักษ์เพื่อให้ช้างได้มากิน เช่นเดียวกับที่ปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมเลี้ยงขันโตกช้างมาเป็นเวลาหลายสิบปี นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเข้าเที่ยวชมและร่วมกิจกรรมเลี้ยงขันโตกช้างและชมความสามารถของช้างในการใช้พู่กันวาดรูป

ด้วยความสำคัญของช้างไทย จึงขอเชิญชวนคนรักช้างทั้งหลายมาร่วมอนุรักษ์และสร้างจิตสำนึกใหม่ให้แก่ช้างเพื่อช้างจะได้อยู่คู่คนไทยไปนานแสนนาน.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น