เทศบาลนครเชียงใหม่ เร่งแก้ปัญหาน้ำเสียในคลองแม่ข่า หลังพบผู้รับเหมาปล่อยน้ำใต้ดินเจือปนกับดินตะกอนจำนวนมาก จนเป็นเหตุให้ปลาตาย

เทศบาลนครเชียงใหม่ เร่งแก้ปัญหาน้ำเสียในคลองแม่ข่า หลังพบผู้รับเหมาปล่อยน้ำใต้ดินเจือปนกับดินตะกอนจำนวนมาก จนเป็นเหตุให้ปลาตาย ทั้งนี้ยังได้รณรงค์ขอความร่วมมือคนในชุมชนไม่ทิ้งขยะและปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองแม่ข่าอีกทางหนึ่ง

ตามที่สื่อออนไลน์ ได้มีการเผยแพร่ภาพการตายของปลาจำนวนมากในคลองแม่ข่า โดยเฉพาะบริเวณประตูน้ำด้านหลังโรงพยาบาลลานนานั้น เทศบาลนครเชียงใหม่ได้เข้าตรวจสอบสาเหตุของการตายตั้งแต่วันพฤหัสที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา โดยพลโทภาณุ โรจนวสุ และนายณัฐฐ์ชูเดช วิริยดิลกธรรม รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ซึ่งได้สอบถามกับประธานชุมชนในพื้นที่ และชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว ว่าได้มีน้ำสีขาวขุ่นผสมมาตามทางน้ำคลองชลประทาน และมีปลาตายมาตลอดแนวลำน้ำ จึงได้เร่งเข้าทำการตรวจสอบพบว่า มีแหล่งต้นกำเนิดมาจากบริเวณสถานที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานประกันสังคม ภายในศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ทำการสูบน้ำใต้ดินเพื่อทำการก่อสร้างฐานราก และมีการผสมเจือปนกับดินตะกอนในบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุให้ปลาเกิดการน๊อคน้ำ โดยเฉพาะปลาตะเพียนและปลาสร้อย ที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยได้ทำการแจ้งให้ผู้รับเหมาโครงการฯ ปิดการระบายน้ำอย่างเร่งด่วนภายในวันพฤหัสที่ผ่านมา และทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบคุณภาพน้ำในวันเสาร์ ไม่พบปลาตายเพิ่มเติม และคุณภาพน้ำเข้าสู่ในเกณฑ์ปกติ

ล่าสุด ช่วงบ่ายวันนี้ (11 มี.ค. 61) ทางเจ้าหน้าที่จากการประปาส่วนภูมิภาค ร่วมกับองค์การจัดการน้ำเสีย และเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้เข้าไปตรวจคุณภาพน้ำซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนในบริเวณนั้น พบว่า จุดที่ปลาตายมีค่าออกซิเจนละลายในน้ำ = 2.2 mg/l ค่าไนเตรท = 4.0 mg/l และ
ค่าแอมโมเนีย 0.01 mg/l
ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
(เกณฑ์ปลอดภัย ไนเตรท ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อลิตร แอมโมเนีย ไม่เกิน 0.50 มิลลิกรัมต่อลิตร)

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำเน่าเสียของคลองแม่ข่าในจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเป็นปัญหาที่เรื้อรังยาวนานมานับสิบปี ซึ่งมีหลายสาเหตุ ทั้งการระบายน้ำเสียจากชุมชนบริเวณต้นน้ำและกลางน้ำ รวมถึงการระบายน้ำเสียมาจากแหล่งอื่นไหลลงสู่คลองแม่ข่า ทั้งจากเทศบาลข้างเคียงและในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ , การบุกรุกพื้นที่แนวคลอง , ประชาชน และนักท่องเที่ยวในเขตพื้นที่มีการทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล และน้ำเสียลงในคลอง จึงเป็นเหตุให้น้ำเน่าเสียมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งหน่วยงานต่างๆและประชาชนชาวเชียงใหม่ได้พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหามาหลายวิธี เช่น เร่งผันน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าสู่คลองแม่ข่า และขุดลอกคลองแม่ข่าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเพิ่มความจุของอ่างเก็บกักน้ำในพื้นที่ เพื่อให้สามารถระบายน้ำต้นทุนให้แก่คลองแม่ข่า

นอกจากนี้ยังมีการเร่งบังคับใช้กฎหมายในการรื้อถอนอาคาร/สถานที่ที่การรุกล้ำพื้นที่คลองของชาวบ้าน การตรวจสอบสถานประกอบการมิให้ปล่อยน้ำทิ้งที่ไม่ได้คุณภาพน้ำตามที่กฎหมายกำหนดลงสู่แหล่งน้ำ ทั้งนี้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด ไม่เฉพาะชาวชุมชนสองฝั่งคลองแม่ข่าเท่านั้น ที่เป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษกับคลองแม่ข่า แต่ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมดยังมีส่วนร่วมที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสียในคลองแม่ข่าอีกด้วย ดังนั้นกระบวนการที่สำคัญที่สุดในการพลิกฟื้นคลองแม่ข่าให้กลับมีคุณภาพที่ดีขึ้น คือ การสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะช่วยกันรักษาคุณภาพน้ำ และลดการระบายเสียลงสู่คลองแม่ข่าให้น้อยลง ตลอดจน ร่วมมือร่วมใจกันในดูแลรักษา และฟื้นฟูคลองแม่ข่า ควบคู่ไปกับภาครัฐในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น