123 ปี ถนนสายต้นยางจากเชียงใหม่ไปลำพูน

ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน (สายเก่า) นี้ มีความผูกพันกับแม่น้ำปิงห่าง ต้นยาง และต้นขี้เหล็กอย่างแยกไม่ออก
แต่เดิมแม่น้ำปิง (ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่) กล่าวว่าไหลผ่านทางทิศตะวันออกของเวียงกุมกาม และทิศตะวันออกของตัวเมืองหริภุญชัยและวัดอรัญญิกรัมมการาม (วัดดอนแก้ว)ซึ่งเป็นสี่มุมเมืองในสมัยพระนางจามเทวี คงอยู่ในพื้นที่ฝั่งเดียวกับตัวเมืองลำพูน ในพงศาวดารโยนกกล่าวถึงพญามังรายยึดครองเมืองหริภุญชัยได้และไปสร้างเมืองใหม่ในทางทิศอีสานของเมืองหริภุญชัยชื่อ “ชะแว” ได้ 3 ปี เกิดน้ำท่วมจึงไปสร้างเมืองกุมกาม แม่น้ำปิงคงเปลี่ยนทางเดินไหลผ่านเข้าในตัวเมืองหริภุญชัยและไหลผ่านหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัยในสมัยพญามังราย ระยะทางจากเวียงกุมกามถึงตัวเมืองหริภุญชัยประมาณ 25 กิโลเมตร จนถึงสิ้นราชวงศ์มังราย ในสมัยท้าวแม่กุ (พระเจ้าเมกุฏิ) พ.ศ.2101 แม่น้ำปิงยังไหลผ่านทางทิศตะวันออกของเวียงกุมกามและทิศตะวันออกของตัวเมืองหริภุญชัยอยู่ แต่ในระหว่าง พ.ศ.2101 ถึง พ.ศ.2317 พม่าเข้าปกครองล้านนา เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ไม่มีการบันทึก จนถึง พ.ศ.2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพขึ้นมาตามแม่น้ำปิงสายปัจจุบันนี้ ที่ไหลผ่านทิศตะวันตกของเวียงกุมกามและทิศตะวันตกของเมืองหริภุญชัย แสดงว่าแม่น้ำปิงเปลี่ยนร่องน้ำจากเดิมในช่วงที่พม่าปกครองล้านนา แม่น้ำปิงระหว่างเวียงกุมกามกับเมืองหริภุญชัยจึงกลายเป็น แม่น้ำปิงห่าง แต่แม่น้ำปิงห่างตั้งแต่บ้านหลิ่งห้า อำเภอเมืองลำพูนไหลไปบรรจบแม่น้ำปิงสายปัจจุบันที่อำเภอป่าซาง ยังมีน้ำจากแม่น้ำกวงไหลลงสู่ลำน้ำปิงห่างอยู่ ซึ่งปัจจุบันจึงเรียกแม่น้ำช่วงนี้เป็น แม่น้ำกวง
แม้จะเป็นแม่น้ำปิงห่าง แต่คนเชียงใหม่ก็ยังเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่ใช้ติดต่อกันระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองลำพูน อารยธรรมลุ่มแม่น้ำปิงห่างยังปรากฏให้เห็นในการตั้งหมู่บ้านตลอดแนวแม่น้ำและมีวัดสร้างริมฝั่งแม่น้ำตลอดแนวแม่น้ำปิงห่าง ประมาณ 30 วัด การตั้งถิ่นฐานไปตามแนวแม่น้ำปิงห่าง ทำให้เกิดเส้นทางคมนาคมทางบกเลียบแนวแม่น้ำปิงห่าง เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางสำคัญของการติดต่อระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองลำพูนในเวลาต่อมา และมีการพัฒนาเส้นทางขึ้นตามลำดับ ตามหลักฐานของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้มีการสร้างถนนอย่างเป็นทางการขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2438 โดยพระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียง เริ่มสร้างตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ เลียบแนวแม่น้ำปิงห่างที่วัดกู่ขาว จนถึงเมืองลำพูน ทำให้การคมนาคมในแม่น้ำปิงห่างขาดความสำคัญ และประชาชนได้บุกรุกเข้าอยู่อาศัยจนไม่เหลือสภาพการเป็นแม่น้ำที่สำคัญในอดีตให้เห็น ยกเว้นในบางช่วงในเขตเทศบาลตำบลอุโมงค์อำเภอเมืองลำพูน
ถนนสายนี้ส่วนหนึ่งสร้างบนผนังดินธรรมชาติของแม่น้ำปิงห่าง ถนนสายนี้นับเป็นถนนที่มีความสำคัญและเป็นถนนสายแรกที่เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างเมืองทั้งสอง มีการซ่อมแซมปรับปรุงตลอดมา โดยเฉพาะที่ระบุไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2443, พ.ศ.2448 และในปี พ.ศ.2454 ทางราชการได้นำต้นยางมาให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกตลอดสองข้างทาง เพื่อความร่มรื่นและสวยงาม ส่วนในเขตเมืองลำพูนได้ปลูกต้นขี้เหล็ก โดยต้นไม้ที่ปลูกตลอดเส้นทางนี้มีร่วมสองพันต้น มีการปลูกเป็นแถวอย่างมีระเบียบ มีระยะห่างกันระหว่างต้นประมาณ 10 ถึง 20 วา นับเป็นเอกลักษณ์คู่ถนนสายนี้ตลอดมาร่วมร้อยกว่าปีแล้ว
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวของชุมชนเข้าสู่การเป็นชุมชนเมืองมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการขาดการวางแผนการป้องกันระยะยาวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะถนนสายนี้ มีการก่อสร้างอาคารร้านค้าและที่พักอาศัยใกล้ชิดติดแนวถนน และการใช้ที่สาธารณะข้างถนนโดยขาดการอนุรักษ์ต้นไม้ มองเฉพาะด้านความปลอดภัยและผลประโยชน์ของบุคคลและกลุ่มคน ทำให้จำนวนต้นไม้ลดจำนวนลงอย่างมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าสภาพเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เอกลักษณ์ของต้นยาง-ต้นขี้เหล็กที่เคียงคู่กับถนนสายเชียงใหม่ –ลำพูน คงจะเหลือเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานให้อนุชนรุ่นหลังเท่านั้น
พิษณุ จันทร์วิทัน เขียนไว้ในหนังสือล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง ปี2546 กล่าวถึงนายช่างมิสเตอร์คอลินซ์ที่มาสำรวจถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนตอนหนึ่งว่า ได้ทราบข่าวจากชาวเมืองลำพูนว่าได้ตกลงกันจะปูอิฐตลอดถนนในระหว่างเมืองลำพูนและเชียงใหม่ ซึ่งมิสเตอร์คอลินซ์เห็นว่าถนนสายนี้เป็นถนนดีมากถ้าจะเอาอิฐปูเข้า เข้าใจว่าจะกลับทำให้ถนนเสียลงที่ประชุมได้ปรึกษากันช้านาน พระยาศรีสหเทพจึงพูดว่า ได้ฟังเสียงในที่ประชุมเห็นกันโดยมากว่าไม่ควรจะปูอิฐตามถนนในระหว่างเมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูน แต่ควรจะซ่อมแซมถนนให้ดีขึ้นนั้น พระยาศรีสหเทพมีความยินดีที่ได้ทราบดังนั้น ราษฎรจะได้ไม่มีความลำบากที่จะต้องทำถนน เพราะฉะนั้นจะได้ทดลองเอาอิฐปูตามถนนบางแห่งเพื่อจะได้ทราบว่าอิฐจะทนน้ำฝนได้เพียงไร และขอให้บรรดาท่านทั้งหลายที่ได้เคยไปมาตามถนนลำพูนได้โปรดชี้แจงว่าควรจะซ่อมตอนใดบ้าง

มิสเตอร์เกรกกล่าวว่าชาวบ้านมักจะทำนาบนถนน ควรจะมีข้อบังคับให้เปิดทางไว้ให้คนเดินได้บ้างมิสเตอร์แฮริซชี้แจงว่าในเรื่องทำนาบนถนนนี้มิสเตอร์แฮริซได้ทราบเหตุเรื่องหนึ่งที่มีท่านผู้หนึ่งต้องเสียเงิน 15 รูเปียเพื่อเป็นค่าทำขวัญที่ต้องเดินตัดนาไปพระยาศรีสหเทพจึงได้ตกลงว่าต่อไปจะได้ห้ามมิให้ราษฎรทำนาบนถนนใหญ่ แต่จะต้องเปิดทางเดินไว้ให้กว้าง 6 ฟิตเสมอ แต่ข้อที่ห้ามนี้เฉพาะแต่ถนนใหญ่ ถ้าเป็นทางเดินเล็กน้อยไม่เป็นที่ห้ามอย่างใด

เจ้าพระยาสุรสีหวิสิษฐ์ศักดิ์ ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดการปลูกต้นไม้สองข้างทางหลวงแผ่นดินสายต่าง ๆ เพื่อความร่มรื่นแก่ผู้สัญจรไปมา ทั้งราษฎร สัตว์ พาหนะล้อเกวียนได้พักอาศัย ท่านจะทำอย่างไรก็มีแผนการล่วงหน้าไว้เสมอไม่ใช่คิดทำตามอารมณ์ชั่วแล่น ดังผู้ใหญ่สมัยนี้ชอบทำ เช่น ถนนเชียงใหม่ – ลำพูน เขตเชียงใหม่ปลูกต้นยางทั้งสองฟาก ลำต้นมหึมาของต้นยางนี้จะหาไม่พบอีกแล้วแม้แต่ในป่าภาคเหนือ พอเลยเขตเชียงใหม่เข้าเขตลำพูนก็ปลูกต้นขี้เหล็กให้รู้ว่า

เป็นเขตแบ่งของสองจังหวัด
ถนนสายเชียงใหม่ – สันป่าตอง ปลูกต้นขี้เหล็ก
ถนนสายเชียงใหม่ – ดอยสะเก็ด ปลูกต้นประดู่
ถนนรอบคูเมือง ปลูกต้นสักกับต้นสน
ถนนในเมือง ประดับด้วยต้นโอ๊คพันธ์เมืองหนาว
เมื่อเข้าเขตลำพูนแล้ว ก็เปลี่ยนเป็นปลูกต้นขี้เหล็กไว้สองข้างทาง จนกระทั่งถึงเขตตัวเมืองลำพูน น่าชมทางการอยู่อย่างหนึ่งที่ใช้สีสะท้อนแสงเขียนจุดขาวกลม ๆ ไว้ตามต้นไม้ข้างทาง ในเวลากลางคืนแสงไฟจากรถยนต์ส่องทำให้มองเห็นแนวถนนได้ถนัด นับว่าเป็นกาช่วยลดอุบัติเห็นได้อย่างหนึ่งเมื่อผ่านหลักกิโลเมตรที่ 24 ก็ผ่านทางแยกเข้าไปยังสถานีรถไฟจังหวัดลำพูน ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านวังทองเมื่อรถแล่นตรงเข้าไปก็จะเข้าสู่เขตที่ตั้งศาลากลางจังหวัดลำพูนจะผ่านกองกำกับการตำรวจภูธรกองเมืองลำพูน ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกถนนสายลำพูน-เชียงใหม่ และเมื่อรถแล่นมาถึงประตูช้างศรีซึ่งเป็นประตูเมืองโบราณทางทิศเหนือ ก็จะมองเห็นยอดพระเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามแต่ไกล ยอดพระเจดีย์ที่มองเห็นนั้นคือยอดพระธาตุหริภุญชัย อันเป็นมิ่งขวัญและเป็นที่เคารพสักการะ ของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วไป
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น