รู้หรือไม่ สถานีรถไฟเชียงใหม่ แต่เดิมเรียกว่า “สถานีป๋ายราง”

การสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือ เริ่มต้นมีการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2448 เมื่อทางราชการได้เริ่มลงมือสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟสายเหนือขึ้น โดยมีวิศวกรชาวเยอรมันชื่อ มิสเตอร์ อี. ไอเซ็น โฮเฟอร์ ซึ่งเข้ามารับราชการในกรมรถไฟหลวงเมื่อปลายรัชกาลที่ 5

ทางรถไฟสายเหนือสร้างจากกรุงเทพขึ้นมาจนถึงลำปางก็ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากภูมิประเทศในแถบนี้เป็นภูเขาสูงและมีเหวลึก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การสร้างทางรถไฟต่อจากลำปางมาถึงเชียงใหม่ต้องล่าช้าออกไป อุปสรรค์อันใหญ่หลวงของการสร้างทางระหว่างลำปางมาเชียงใหม่ก็คือ จะต้องทำการขุดเจาะภูเขาขุนตาน ซึ่งอยู่บนสันเขาผีปันน้ำเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดลำพูน

การสำรวจและขุดเจาะถ้ำขุนตานใช้เวลาถึง 11 ปีจึงแล้วเสร็จ งานขุดเจาะเริ่มตั้งแต่ปี 2450 แล้วเสร็จในปี 2461 โดยขุดเจาะจากภายนอกทั้งสองด้านเข้าไปบรรจบกันตรงกลาง ใช้ช่างชาวเยอรมันกว่า 250 คน กรรมกรชาวจีน อีสานและคนเมืองอีกหลายพันคน ในการก่อสร้างอุโมงค์ขุนตานคนงานต้องพบกับอุปสรรคมากมาย มีกรรมกรชาวจีนจำนวนมากล้มตายลงที่นี่ด้วยโรคอหิวาและไข้มาลาเรีย ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงปัญหาเสือคาบคนงานไปกิน แม้แต่นายช่างชาวเยอรมันก็เคยถูกเสือที่เข้าไปหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ทำร้ายบาดเจ็บมาแล้วส่วนงานเจาะภายในอุโมงค์นั้นใช้กรรมกรชาวอีสานกับคนพื้นเมือง เนื่องจากชาวจีนไม่ยอมทำงานในอุโมงค์ เพราะพวกเขาถือว่าในอุโมงค์เป็นที่สิงสถิตย์ของภูตผีปีศาจ

เมื่อเริ่มทำการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานได้ไม่นาน ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียก่อน มิสเตอร์ อี. ไอเซ็นโฮเฟอร์ ถูกจับตัวเป็นเชลยศึกในฐานะชนชาติศัตรู ถูกขังในเมืองไทยนาน 6 เดือนแล้วถูกส่งต่อไปยังประเทศอินเดียอีก 2 ปี จากนั้นจึงถูกส่งกลับประเทศเยอรมัน ในปี พ.ศ.2463 ต่อมาในปี พ.ศ.2472 ท่านได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้งและพำนักอยู่ในเมืองไทยจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2505 จึงเสียชีวิต

ภายหลังการขุดเจาะอุโมงค์ที่ถ้ำขุนตานแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2461 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจที่สำคัญของเชียงใหม่ ลำพูนเป็นเสมือนการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากความต้องการไม้สักของบริษัททำไม้อังกฤษ (บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า) นอกจากนี้ทางรถไฟดังกล่าวยังเป็นเส้นทางลำเลียงไม้สัก ข้าวและถ่านหุงต้มในเขตภาคเหนือไปยังตลาดภาคกลางได้สะดวกขึ้น

หลังจากที่ทางรถไฟสายเหนือสร้างมาถึงเชียงใหม่ ทำให้การเดินทางจากกรุงเทพขึ้นมาเชียงใหม่ใช้เวลาไม่นานเหมือนแต่ก่อน ผู้คนจำนวนมากหันมาใช้บริการของรถไฟจึงทำให้แต่ละขบวนแออัดไปด้วยผู้โดยสาร จนบางครั้งต้องออกแรงปีนขึ้นไปนั่งบนหลังคาก็มี หลังจากนั้นทางมณฑลพายัพจึงได้สร้างสถานีรถไฟประจำเชียงใหม่ขึ้น ชาวบ้านเรียกสถานีนี้ว่า “สถานีป๋ายราง” หมายถึงที่สิ้นสุดของรางรถไฟ หลังการก่อสร้างสถานีรถไฟเชียงใหม่เสร็จก็ได้มีพิธีเปิดทำการเดินรถไฟสายเหนือขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2464 จนถึงปัจจุบันนับได้ 97 ปี

สถานีรถไฟเชียงใหม่ที่เห็นในปัจจุบัน นับเป็นอาคารหลังที่ 2 ซึ่งอาคารหลังแรกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2464 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดทำลายสถานีรถไฟเชียงใหม่จนพังพินาศเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2486 หลังจากที่สถานีรถไฟถูกระเบิด ทางราชการต้องประกาศงดใช้สถานีแห่งนี้ไปหลายปี ผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถไฟต้องขึ้นลงที่สถานีป่าเส้า จังหวัดลำพูนแทน ต่อมาเมื่อสงครามสงบลงจึงได้มีการสร้างสถานีรถไฟขึ้นใหม่ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น