“โฮมสเตย์บ้านปางแดง” ไหว้สาพระธาตุรอยพระบาท เรียนรู้ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ ในวิถีดาราอั้ง

ไหว้สาพระธาตุรอยพระบาท เรียนรู้ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ ในวิถีดาราอั้ง “โฮมสเตย์บ้านปางแดง”
การเดินทางทุกครั้ง คือการเรียนรู้ สำหรับวันนี้เราออกเดินทางมาในเส้นทางสายเหนือ ทางหลวงหมาย เลข 107 เชียงใหม่-แม่ริม-แม่แตง-เชียงดาว จุดหมายปลายทาง อ.เชียงดาว ที่มาสัมผัสวัฒนธรรมวิถีเรื่องราวของชาวดาราอั้งกัน กับภูมิปัญญาการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติที่ “โฮมสเตย์บ้านปางแดง”
ดาราอั้ง หรือ ปะหล่อง เป็นชนเผ่าที่อพยพมาจากพม่า เข้าสู่ไทยเมื่อประมาณปี 2511 เรียกตัวเองว่า ” ดาระอัง” (Da – ang , Ra – ang , Ta – ang) คำว่า “ปะหล่อง” เป็นภาษาไทยใหญ่ซึ่งใช้เรียกชนกลุ่มนี้ นอกจากนั้นยังมีคำเรียกที่แตกต่างกันออกไปอีก เช่น ชาวพม่าเรียกปะหล่องว่า ” ปะลวง”(Palaung) และไทยใหญ่บางกลุ่มก็ใช้คำว่า “คุณลอย” (Kunloi) ซึ่งมีความหมายว่า คนดอย หรือคนภูเขา แทนคำว่าปะหล่อง
บ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าปะหล่อง (ดาราอั้ง) ที่อพยพมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า ด้วยเหตุภัยสงครามการเมือง ทั้งที่ไม่มีที่ทำกิน และเมื่อปี 2526 ชาวดาราอั้งกลุ่มหนึ่ง ได้อพยพมาอยู่ที่ดอยอ่างขาง อ.ฝาง แต่จากการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้บริเวณดังกล่าวขาดความอุดมสมบูรณ์ ต่อมาในปี 2549 มูลนิธิโครงการหลวง ได้เข้าไปฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ด้วยการปลูกหญ้าแฝก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
จากนั้นเติมพลังด้วยน้ำองุ่นสด อร่อยกับเมนูพื้นบ้าน “น้ำพริกถั่วเนา” และผักสดที่มี “ผักกาดส้ม” ให้รสชาติเปี้ยวส้มสมชื่อจริงๆ เราจึงมาเดินท่องเที่ยวในหมู่บ้านกันต่อ

เราไปเรียนรู้ภูมิปัญญาการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ นางคอง เหง ครูภูมิปัญญาด้านงานหัตถกรรมเล่าว่า “….ผู้หญิงทุกคนต้องใส่สายเอวหวายที่สะโพกจะกี่เส้นก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหวานย้อมสีแดงกับดำ เขาว่าเป็นบ่วงของนายพรานคราวที่จับนางมโนราห์ไปให้พระสุธน ถ้าไม่ได้ใส่เดี่ยวจะบินหนี จะเจ็บไข้ได้ป่วยขนาดเวลาออกไปทำงาน เอาลูกนอนไว้ใต้ต้นไม้ยังเอาบ่วงนี้วางไว้บนตัวเล็กเลย เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ใต้แขนเสื้อก็มีชายไหวๆ เป็นเหมือนปีกด้วย ชาวบ้านเรียกว่า “นางร้อยเงิน” จากตำนานเรื่อง นางร้อยเงินที่เล่าขานสืบต่อกันมานาน “
งานหัตถกรรมของชาวดาราอั้ง เป็นงานที่แสดงถึงภูมิปัญญาอันชาญฉลาด ในการนำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมารังสรรค์เป็นเครื่องใช้ และเครื่องประดับได้อย่างงดงาม สตรีปะหล่องบ้านปางแดงส่วนใหญ่ สามารถทอผ้าได้กันทุกคน และยังทอผ้าซิ่น และตัดเย็บผ้าใส่เอง การแต่งกายในชีวิตประจำวันของสตรีเกือบทั้งหมด ยังคงนุ่งซิ่นสีแดง และคล้องบ่วงแร้วหวายเป็นสัญญาลักษณ์ของปะหล่อง ทั้งสีสันและแบบของเครื่องแต่งกายสตรี เป็นสัญลักษณ์ของกินรี มีความหมายเฉพาะที่บ่งบอกถึงฝีมือในการย้อม
วัสดุที่ใช้ย้อมยังคงแฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาอันลึกซึ้ง ปัจจุบันหาคนรู้น้อยลงไปทุกที่ หวายคาดเอว(หน่อง) มีอยู่ 6 ชนิด 1.ห่วงหวายดำ(หน่องหว่อง) 2.หว่งหวายแดง(หน่องเหล่น) 3. ห่วงหวายขาว(หน่องป่าย) 4. ห่วงหญ้าถัก(หน่อง ด่อน) 5. ห่วงเงิน (หน่องเริน) 6.ห่วงลาย( หน่องพะโก๊บ) และถ้านักท่องเที่ยวได้แต่งกายในชุดปะหล่อง ก็จะได้ถ่ายภาพในชุดสวยๆกันอย่างประทับใจ
ชมสวนองุ่นของ นายชาติ จันทรา หรือ ลุงชาติ เกษตรชาวดาราอั้ง บนพื้นที่ขนาด 7 ไร่ ท่ามกลางขุนเขาหิน ลุงชาติได้ปลูกพืชผสมผสานมี องุ่นพันธุ์บิวตี้ซิเรด ผักในโรงเรือน ลำไย เสาวรสหวาน มะนาว ไม้ดอก และปลานิล ที่จะสร้างหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี ตามแนวทางหลักการเศษกิจพอเพียง

ช่วงเย็นนำกระเป๋าสัมภาระเข้าบ้านพักแล้ว พระอาทิตย์ลับขอบฟ้า เสียงฆ้องกลองดังขึ้นเป็นสัญษลักษณ์บอกถึงลานการแสดงได้เริ่มต้นขึ้น แสดงชุดแรกของเด็กๆ เป็นการแสดงการร้องเพลงดาราอั้ง ให้รักสมัครสมานสามัคคีกัน ในชุดที่ 2 เป็นการแสดงฟ้อนนางร้อยเงิน แล้วร่วมรับประทานอาหารค่ำ จากนั้นแยกย้ายกันเข้าที่พัก
05.00 น. นาฬิกาปลุกท่ามกลางความหนาวเย็น เราไปไหว้สา “ พระธาตุปางแดง และรอยพระบาท” บนภูเขาหิน แสงสว่างจากไฟฉาย นำเราลัดเลาะไปตามเส้นทางสู่ยอดเขา ภูเขาลูกแรกขวามือ เป็นที่ประดิษฐานองค์พระเจดีย์สีขาว ในส่วนภูเขาลูกใหญ่อีกด้าน เป็นที่ประดิษฐานรอยพระบาททั้ง 2 รอย เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและตก มองเห็นดอยหลวงเชียงดาวได้อย่างสวยงาม ในทุกวันพระชาวบ้านจะขึ้นมาทำขึ้นบุญบนดอยแห่งนี้
เราย้อนกลับมาที่หมู่บ้านรับประทานอาหารเช้า เก็บสัมภาระแล้วรู้สึกใจหาย ที่ต้องเดินทางกลับ
“ แม้นช่วงเวลาสั้นๆที่บ้านปางแดง แต่ความน่ารักอบอุ่นและเรื่องราวมากมายที่เราสัมผัสได้ ”

โฮมสเตย์บ้านปางแดงใน ม.9 บ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โทร.095-8723350 (มะปราง)

ร่วมแสดงความคิดเห็น