ชาวเมืองนครพิงค์ เสียดายงบกว่า 100 ล้าน สร้างสวนบนพื้นที่การรถไฟเชียงใหม่

หากใครผ่านไปมา บริเวณหน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ จะแลเห็นพื้นที่สวนสาธารณะบนพื้นที่การรถไฟ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 130 ไร่ พื้นที่บางส่วนเคยเป็นโรงแรมรถไฟ ซึ่งเปิดบริการเมื่อปี พศ. 2464 และมีช่วงสำคัญในประวัติศาสตร์เมืองด้วย เคยเป็นที่ประทับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ครั้งเสด็จประพาสนครเชียงใหม่ เพื่อทอดพระเนตรขบวนแห่ช้างรับเสด็จในปี พ.ศ.2469

จากนั้นมามีการพัฒนา ปรับปรุงจากโรงแรมแห่งแรกของนครเชียงใหม่ จนกลายเป็นหนึ่งในโรงแรมที่มีชื่อเสียง ในหัวเมืองท่องเที่ยวของไทยสมัยนั้น ต่อมามีการรื้อสิ่งปลูกสร้าง เมื่อปี 2546 เพื่อสร้าง”อุทยานนคร หรือสวนสาธารณะเพื่อเป็นปอดของเมือง” ตามกระแสเรียกร้องของชาวเชียงใหม่ฝั่งตะวันออก ช่วงนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า งบประมาณแผ่นดินสู่เชียงใหม่ ไหลมาเทมา มีการนำเสนอรูปแบบโครงการจากคณะผู้บริหาร ทน.เชียงใหม่ ขณะนั้น เพื่อดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้ ( TK Park)บนพื้นที่ ซึ่งขออนุญาติจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ใช้ประโยชน์ราวๆ 55 ไร่

โครงการนี้ จะมีสวนสาธารณะ มุมสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ อาคารสำนักงาน ห้องประชุม สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานสากล ลานจอดรถ และหอธรรม รวมทั้งร้านค้า มุมบริการต่างๆมากมาย ภายในวงเงินร่วมๆ 99 ล้านบาท
เน้นสิ่งปลูกสร้าง มากกว่าพัฒนาพื้นที่สีเขียว ตามสไตล์ผู้บริหารยุคนั้น เปิดประมูลโครงการนี้ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2547

โดยมีเอกชน 6 บริษัท สนใจร่วมประมูล การก่อสร้างเป็นไปด้วยความล่าช้า มีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง (ดี-พี-ซี-เอส กลุ่มร่วมทุนรับเหมา ) ฟ้องร้องค่าเสียหายกันไปมา ตามสัญญาว่าจ้างต้องแล้วเสร็จ ส่งมอบงานภายในเดือนเมษายน 2549 จนกระทั่งล่วงเลยมาเกือบ 10 กว่าปี ถึงเปิดใช้งานได้ชั่วคราว

ระหว่างที่ก่อสร้าง มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสวนสาธารณะ และสิ่งปลูกสร้างในมุมต่างๆ ปีละไม่น้อย กว่า ทน.เชียงใหม่จะส่งคืนพื้นที่ให้การรถไฟฯอย่างเป็นทางการ เนื่องจากการรถไฟฯขอพื้นที่คืน เตรียมดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รองรับโครงการสถานีรถไฟความเร็วสูงเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคอมมิวนิตี้มอลล์ และเซอร์วิส อพาร์ต เมนต์, บ้านพักพนักงานการรถไฟ เป็นต้น โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ตาม  แผนการพัฒนานั้น การรถไฟฯเคยแถลงสื่อว่าภายในปี 2561 จะเริ่มดำเนินงานก่อสร้าง มีผู้ประกอบการจำนวนมาก ยื่นเสนอแผนร่วมพัฒนาหลายราย

ปัจจุบันการดูแลพื้นที่สวนสาธารณะ และการบริหารจัดการ อยู่ในความรับผิดชอบของ เอเชียคลีนนิ่งเซอร์วิส มีการว่าจ้างปีต่อปีกับการรถไฟฯ ทั้งนี้แนวโน้มที่มีการชลอโครงการ พัฒนาสู่อนาคต ประกอบกับเป็นพื้นที่ใกล้พระตำหนักที่ประทับ พระ บรมวงศานุวงศ์ ที่กรมชลประทาน ดำเนินการสร้างถวาย ในพื้นที่ สำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ดังนั้นการพัฒ นาพื้นที่ จึงต้องละเอียดรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม ..ภาพของปอดกลางเมือง สวนสาธารณะ บนพื้นที่การรถไฟเชียงใหม่ มีสภาพอย่างไรนั้น ขอนำเสนอ  ด้วยภาพประกอบพร้อมคำเตือนว่า โปรดใช้พื้นที่พักผ่อน และออกกำลังกาย เป็นกลุ่มหรือหมู่คณะ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน

ร่วมแสดงความคิดเห็น