ซาบซึ้งแทนคนไข้ ทีมแพทย์ฉุกเฉิน รพ.มหาราช โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา มีการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศจากแม่ฮ่องสอนมาเชียงใหม่ เป็นผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บทางศีรษะรุนแรงต้องผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิต ด้วยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งทีมรพ.ศรีสังวาลย์ ศ.เวียงพิงค์ สพฉ. ทีมบิน ฮ.ทบ. ทีมพอป จึงทำให้เคสนี้สามารถบินตรงฝ่าเมฆฝนมาจนถึงมือศัลยแพทย์ระบบประสาทที่รพ.มหาราชนครเชียงใหม่และได้รับการผ่าตัดอย่างรวดเร็วและปลอดภัย รอดชีวิตได้ในที่สุด แต่ขากลับ ท้องฟ้าปิด ฮ.ไม่สามารถบินกลับแม่ฮ่องสอนได้ ทีมที่มาส่งเลยต้องได้นั่งรถกลับรพ.กันแทน หนึ่งในทีมรักษาที่กรุณามาส่งผู้ป่วยนั้น เป็นคุณหมอผ่าตัดที่ไม่เคยทอดทิ้งคนไข้แม่ฮ่องสอนไม่เคยย้ายไปไหนเลยมากกว่ายี่สิบปีแล้ว ดีใจที่มีโอกาสมารับรู้น้ำใจและความเสียสละจากคนแบบทุกท่าน ณ ตรงนี้ คนที่พร้อมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือที่เรียกว่าโอกาสให้กับคนในพื้นที่ทุนกันดารอยู่เสมอ ซาบซึ้งแทนคนไข้และครอบครัวจริงๆ ค่ะ เคยคิดเหมือนกัน ว่าทำไมหลายท่านที่อยู่รอบๆตัวถึงต้องทุ่มเทในงานมากขนาดนี้ แต่อย่างน้อย ก็เพราะโลกมีคนแบบนี้ คนจึงอยากเป็นคนดีมากขึ้นอีก

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) มอบให้ทีมแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นทีมลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศภาคเหนือ พร้อมเป็นต้นแบบและจัดฝึกอบรมครอบคลุม โรงพยาบาลเครือข่าย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อลดระยะเวลาการเดินทาง และความสูญเสียจากการเสียชีวิตและทุพพลภาพจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยวิกฤตในยามฉุกเฉิน

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ได้มาตรฐาน ซึ่งบุคคลเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ดังนั้นจึงได้เริ่มมีทีมลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศขึ้น ผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้จะต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่ปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการเคลื่อนย้าย ส่งต่อทางอากาศยาน ในกรณีที่การเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นเกิดในเขตพื้นที่ หรือภูมิประเทศที่ไม่มีผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบัติการ หรือสถานพยาบาลที่มีเครื่องมือในการช่วยชีวิตเพียงพอ อาทิ พื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่ห่างไกล พื้นที่ที่อยู่ในระหว่างประสบภัยพิบัติ หรือไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางบก ได้ตามปกติ
ผศ.นพ. นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “บุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลในศูนย์อุบัติเหตุตติยภูมิ, หน่วยตรวจฉุกเฉิน หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินและประสานงานส่งต่อ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ และภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2554 ทั้งในฐานะทีมลำเลียงทางอากาศ ทีมแพทย์อำนวยการและประสานงานการส่งต่อ รวมทั้งร่วมพัฒนาแนวทางการลำเลียง จัดประชุมอบรมวิชาการและจัดทำคู่มือการลำเลียงจังหวัดและเขตบริการสุขภาพที่ 1 มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วการได้เข้ามาอยู่ในทีมแพทย์ฉุกเฉินรู้สึกภูมิใจที่ได้ออกช่วยเหลือสังคม ในอนาคตอยากมีเฮลิคอปเตอร์ทางการแพทย์เองซึ่งมีในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในแต่ละครั้ง จะได้รับความอนุเคราะห์ในเครื่องของเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์ จากท่าอากาศยานต่างๆ ปัญหาคือความล่าช้าเพราะต้องเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้เสียเวลาในการติดตั้งพอสมควร อย่างไรก็ตามเฮลิคอปเตอร์ และท่าอากาศยานทางการแพทย์จะเกิดขึ้นได้นั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรส่วนท้องถิ่น และกระทรวงสาธารณะสุข ที่จะเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ ในการลดระยะเวลาการเดินทาง และความสูญเสียจากการเสียชีวิตและทุพพลภาพจากการ บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยวิกฤตในยามฉุกเฉิน ให้กลับมามีชีวิตที่ปกติได้ต่อไป”
“อ.พญ.กรองกาญจน์ สุธรรม” อาจารย์ประจำเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และทีมลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ กล่าวว่า “ทีมลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศภาคเหนือ หรือ Northern sky doctor ได้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2553 โดยเริ่มปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิตโดยการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยานทางภูมิภาคตอนเหนือของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมามีข้อจำกัดด้านภูมิประเทศ และสถานพยาบาลเป็นอย่างมาก โดยนับจนปัจจุบัน มีจำนวนผู้ป่วยที่รับการช่วยเหลือด้วยการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศรวมกว่า 100 ราย ส่วนใหญ่มาจาก รพ.ต้นทาง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณร้อยละ 80 และรองลงมาคือ จังหวัดน่านและอำเภอรอบนอกของจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยอยู่ในกลุ่ม 3 อันดับแรก คือ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเฉียบพลัน กลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง และได้รับอุบัติเหตุโดยเฉพาะบาดเจ็บทางศีรษะที่ต้องได้รับการผ่าตัดสมองอย่างเร่งด่วน มายังรพ.ปลายทาง ได้แก่ รพ.นครพิงค์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ และ รพ.ประสาท โดยมีพาหนะเป็นอากาศยานทั้งเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ ที่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ในการลงนามข้อตกลงร่วมกับ สพฉ. มีการประสานงานผ่านศูนย์สั่งการจังหวัด (ศูนย์เวียงพิงค์ 1669) ผ่านมติเห็นชอบโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และความร่วมมือจากท่าอากาศยาน และกองบิน 41 ทั้งนี้ผู้ป่วยทุกรายไม่มีภาระค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตได้อย่างรวดเร็วมีคุณภาพ และเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ทันเวลา ลดความสูญเสียจากการเสียชีวิต และทุพพลภาพจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินลง”

ร่วมแสดงความคิดเห็น