รู้จักเชียงตุง อดีตเมืองเชียงใหม่เมื่อ 80 ปีที่แล้ว

นอกเหนือจากวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่นของชาวไทขึนแล้ว ความมั่งคั่งของวัดวาอารามชนิด “วัดชนวัด” กลายเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนจากต่างถิ่นเดินทางมาเยือนเมืองเชียงตุงอย่างไม่ขาดสาย พระอารามหลวงที่เนืองแน่นกว่า 20 แห่งรวมไปถึงวัดต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ในเขตชานเมืองอีกกว่า 50 วัด ยืนยันความเป็นแว่นแคว้นดินแดนแห่งพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

เชียงตุงในวันนี้ดูไม่แตกต่างไปจากเมืองเชียงใหม่เมื่อราว 70-80 ปีก่อน สภาพบ้านเรือนยังคงสภาพดั้งเดิมไว้ วิถีชีวิตผู้คนยังคงได้รับการอนุรักษ์รักษา แม้ว่าสังคมในเชียงตุงบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไปรับเอาวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้ามา สังเกตได้จากมีอาคารบ้านเรือนที่สร้างขึ้นตามแบบสมัยนิยม แต่ด้วยการดำรงชีวิตที่อิงแอบกับหลักธรรมคำสอนพุทธศาสนาจึงเป็นเสมือนเกราะป้องกันอันเข้มแข็งต่อการเปลี่ยนแปลงจากสังคมภายนอก

เมืองเชียงตุง มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อทั้งเมืองเขิน เมืองขึน เมืองเขมรัฐ มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองนี้เมื่อราว 800 ปีก่อนว่า เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้น ณ ริมฝั่งลำน้ำขึน แต่มีพระดาบสรูปหนึ่งนามว่า “ตุงคฤาษี” ได้แสดงอภินิหารให้น้ำไหลออกไปเหลือไว้เพียงแค่หนองน้ำใหญ่กลางใจเมือง ซึ่งกาลต่อมาได้ถูกขนานนามตามชื่อฤาษีรูปนั้นว่า “หนองตุง” และเป็นที่มาของชื่อเมืองที่มีความรุ่งเรืองเฟืองฟูริมหนองน้ำแห่งนี้ว่า “เชียงตุง” หรือ “เขมรัฐตุงคบุรี”
ด้วยความที่เมืองเชียงตุงเคยเป็นหัวเมืองเก่าแก่ของอาณาจักรล้านนาและมีประวัติการก่อตั้งเมืองในยุคสมัยใกล้เคียงกัน ทั้งยังมีเจ้าผู้ครองนครปกครองที่มาจากต้นตระกูลเดียวกันคือราชวงศ์มังราย จึงทำให้สองเมืองนี้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันจนแยกไม่ออก ยิ่งในระยะหลังราชสำนักเชียงใหม่กับเชียงตุงก็ยิ่งแน่นแฟ้นกันมากขึ้น เมื่อมีราชตระกูลของทั้งสองฝ่ายอภิเษกสมรสกันเช่น เจ้าอินทนนท์ ราชบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายสมรสกับเจ้านางสุคันธา ราชธิดาของเจ้าฟ้าเชียงตุง เจ้าทิพวรรณ ธิดาของเจ้าหลวงเมืองลำปาง อภิเษกสมรสกับเจ้าพรหมลือ ราชบุตรแห่งเจ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าหลวงเมืองเชียงตุงและยังมีเจ้านายของทั้งสองราชตระกูลเกี่ยวดองกันอีกหลายท่าน

ยุคแห่งความรุ่งเรืองของราชสำนักเชียงตุงอยู่ในรัชสมัยของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งทรงครองราชสมบัติในช่วงที่มหาอำนาจทางยุโรปกำลังขยายอำนาจในฐานะเจ้าอาณานิคม เมื่อราว150 ปีก่อน เจ้าฟ้าของชาวไทเขินเชียงตุงพระองค์นี้ ทรงพระปรีชาสามารถและสร้างความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นในปี พ.ศ.2450 หลังจากที่เสด็จกลับจากการประชุมร่วมกับอังกฤษที่ประเทศอินเดียแล้ว พระองค์ยังได้สร้างพระราชวังหลวง หรือ “หอหลวง” ด้วยรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบอินเดียประยุกต์ผสมกับศิลปกรรมแบบยุโรปขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับ

ปี 2534 รัฐบาลทหารเผด็จการพม่า (สมัยนั้น) ภายใต้การนำของนายพลเนวิน ได้ทำการทุบรื้อทำลาย “หอหลวง” สถานที่อันเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทขึนแห่งเขมรัฐเชียงตุง เพียงเพราะทหารเมียนม่าต้องการพื้นที่เพื่อใช้สร้างโรงแรมในการโปรโมทการท่องเที่ยวของเมียนม่า Visit Myanmar Year 1996 (พ.ศ.2539) ทว่าสิ่งที่สูญหายไปคืองานสถาปัตยกรรมชิ้นเยี่ยมที่ทรงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ อันเป็นความภาคภูมิใจในระบอบเจ้าฟ้าเจ้ามหาชีวิตของคนเชียงตุงสมัยนั้น

กล่าวกันว่าหาก “หอหลวง” ของเมืองเชียงตุงไม่ถูกทุบทิ้ง จะเป็นแหล่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนนครรัฐแห่งนี้เป็นจำนวนมากและยังเป็นสถานที่เชิดหน้าชูตาของบรรดารัฐไทในแถบนี้ได้ดีพอ ๆ กับ “พระราชวังเชียงทอง” ในเมืองหลวงพระบาง

เจ้าแม่สุคันธา ณ เชียงใหม่ ในฐานะราชธิดาของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงผู้ซึ่งเติบโตมาใน “หอหลวง” ได้เล่าย้อนความทรงจำในอดีตไว้ในบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ในนิตยสารแพรวฉบับเดือนตุลาคม 2536 ตอนหนึ่งว่า
“…ตำหนักของเจ้าพ่อเป็นตึกสามชั้นแบบแขก บนตำหนักมีห้องถึงเก้าห้อง แต่ละห้องใหญ่โตมากแบ่งออกเป็นสามปีก ปีกซ้ายคือห้องของเจ้าพ่อ ส่วนห้องโถงใหญ่ตรงปีกกลางเอาไว้

สำหรับออกขุนนางเวลาที่มีงานใหญ่โต ถัดไปทางด้านหลังเป็นห้องเก็บเงินท้องพระคลัง ปีกขวาเป็นห้องของเจ้าจอมสามห้องและห้องมหาดเล็ก ส่วนชั้นล่างแบ่งไว้สำหรับต้อนรับเวลามีงานปีใหม่หรืองานจัดเลี้ยงพวกเจ้าเมืองที่ขึ้นกับเมืองเชียงตุง เมื่อเขามาคารวะเจ้าพ่อในพิธีคารวะ ซึ่งจะจัดขึ้นปีละสองครั้ง คือวันปีใหม่กับออกพรรษา…”

หากอยากเห็นวิถีชีวิตของคนเชียงตุง ต้องมาเที่ยวที่ตลาดเช้า ทุก ๆ เช้าในตลาด (กาดหลวง) เมืองเชียงตุงจะคราคร่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมากหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งแม่ค้าชาวไทใหญ่ ไทขึนไทลื้อ นำสินค้าพื้นเมืองมาวางขายปะปนกับเครื่องใช้อุปโภคบริโภค ในจำนวนนี้มีสินค้านำเข้าทั้งจากประเทศไทย จีนและเวียดนาม อีกด้านหนึ่งของตลาดจะเป็นสินค้าประเภทผัก ปลาและสินค้าพื้นเมืองจำพวกยาสูบ รวมถึงของป่าหายากอีกหลายชนิด

กาดหลวงของเชียงตุงจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดเรื่อยไปจนถึงสายก่อนเที่ยง ที่นี่นอกจากจะมีสินค้าประเภทต่าง ๆ วางจำหน่ายแล้วยังมีร้านค้าขายอาหารพื้นเมืองหลายร้านอย่างเช่น น้ำเงี้ยวข้าวฟืนรวมถึงโรตีจากอินเดียที่ขายคู่พร้อมกับกาแฟ เครื่องดื่มจากต่างประเทศ

ปัจจุบันรัฐบาลเมียนม่า ได้เปิดเชียงตุงออกสู่สายตาโลกภายนอกอีกครั้ง หลังจากปิดตายดินแดนแห่งนี้มานานกว่า 50 ปี ทำให้เมืองแห่งนี้ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในฐานะของดินแดนซึ่งครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองไพบูลย์ด้วยระบบกษัตริย์ มีผู้คนจำนวนมากต่างใฝ่ฝันที่จะได้เดินทางเข้ามาเยือนเมืองแห่ง “อุดมคติ” ที่มั่งคั่งด้วยพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ทำให้ชาวไทขึนแห่งเมืองเชียงตุงยังดำรงรักษาความเป็นตัวเองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระพุทธศาสนาที่แน่นแฟ้นเกินกว่าชนชาติใดในโลกจะเสมอเหมือน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น