จากเรือต่างสู่ห้างสรรพสินค้า ยุคสมัยเปลี่ยนผ่านของการค้าเมืองเชียงใหม่

เชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการค้าที่สำคัญของภาคเหนือ นอกเหนือจากถนนช้างคลานแหล่งค้าขายขนาดใหญ่ใจกลางเมืองแล้ว หากย้อนไปในอดีตเมื่อราว 100 ปีก่อน การค้าขายของพ่อค้าเมืองเชียงใหม่ในอดีตนิยมการเดินทางโดยใช้วัวต่าง ม้าต่างบรรทุกสินค้าจะเมืองเชียงใหม่ไปขายยังต่างเมือง เช่น เมืองแม่สอด เชียงแสน เมืองแพร่ เมืองน่าน รวมถึงเมืองเมาะตะมะ ในประเทศพม่า จนถึงการเดินทางโดยใช้เรือหางแมงป่องล่องไปตามแม่น้ำปิงเพื่อไปขายสินค้ายังเมืองระแหง (เมืองตาก) ,เมืองปากน้ำโพ (นครสวรรค์)

ท่าน้ำที่สำคัญสำหรับขนขึ้น-ขนลงสินค้าของพ่อค้าได้แก่ ท่าน้ำไปรษณีย์ท่าสะต๋อย ท่าวัดเกต และท่าศาลา เป็นต้น สินค้าที่ขึ้นลง ณ ท่าไปรษณีย์หรือท่าน้ำสถานนั้น ตั้งอยู่ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์) คือผ้าชนิดต่าง ๆ เครื่องเหล็ก เครื่องมือชั่ง เหล้าฝรั่ง อาหารกระป๋อง ของกินของใช้และเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ในขณะนั้นนครเชียงใหม่ยังอยู่ในสภาพของประเทศราช อาหารการกินจึงค่อนข้างอัตคัตและขาดแคลนมาก การบุกเบิกที่ดินเพื่อทำไร่ ทำนาและทำสวน จึงไม่มีมากนัก เว้นแต่การปลูกต้นหมากพลู และปล่อยครั่งตามต้นฉำฉา สินค้าที่นำไปขายขาเรือล่อง จึงได้แก่ ครั่ง หมาก พริกแห้งและของป่าเท่านั้น สินค้าที่เหนือจากนี้มีราคาสูงคือ ฝิ่น ซึ่งบรรดาพ่อค้าขาล่องจะนำฝิ่นลงไปด้วย ทั้งที่กฏหมายได้ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ว่า “ห้ามซื้อ ห้ามขายฝิ่นและห้ามสูบฝิ่น (พ.ศ.2345)”

การคมนาคมทางเรือซึ่งใช้กันมาก่อนและต้องนอนแรมกันนานเป็นเดือนก็ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายเหนือมาถึงเชียงใหม่แล้วเสร็จ ในปีพ.ศ.2464 กลุ่มนายทุนที่ผงาดขึ้นมามีบทบาทเหนือกลุ่มเจ้าที่นับวันหมดอำนาจและอิทธิพลลงไปก็คือ กลุ่มนายทุนคนจีน ความเจริญของตัวเมืองเชียงใหม่ที่เคยกระจุกตัวอยู่อยู่สองฝั่งริมแม่น้ำปิง ก็ขยายตัวออกไปทางทิศตะวันออกของแม่น้ำที่เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟ เกิดย่านตลาดสันป่าข่อย มีโรงสีผุดขึ้นหลายโรงในบริเวณนี้

การค้าของคนเชียงใหม่ในอดีต เป็นการแลกเปลี่ยนผลิตผลระหว่างชุมชนต่าง ๆ โดยมี “ตลาด” เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้า นอกจากนี้ในเวียงเชียงใหม่ยังมีกลุ่มพ่อค้าเงี้ยว พ่อค้าฮ่อจากยูนนาน พ่อค้าชาวลาวจากล้านช้างเข้ามาค้าขายอีกด้วย

รูปแบบของกาด หรือ ตลาดได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากที่เคยวางขายกันริมทางเดินหรือถนนก็พัฒนาขึ้นมาขายในอาคารที่แข็งแรงทนทาน ปัจจุบันตลาดที่ทำการใช้แลกเปลี่ยนสินค้าในเมืองเชียงใหม่มีไม่กี่แห่ง บางแห่งก็ล้มหายไปแต่ที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เห็นจะเป็นกาดหลวง หรือ กาดวโรรส ที่ยังสืบสานตำนานการค้าของอดีตเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

จนกระทั่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีดำริที่จะสร้างกาดหลวงเชียงใหม่ขึ้น แทนตลาดเก่าที่มีความคับแคบ จึงได้พื้นที่บริเวณข่วงเมรุ ซึ่งเป็นสุสานเก่าของเจ้านายเชียงใหม่ โดยได้โปรดให้ย้ายกู่บรรจุอัฐิของเจ้านายเชียงใหม่ไปไว้ในบริเวณวัดสวนดอก แล้วทำการสร้างกาดหลวงขึ้นมาด้วยทุนทรัพย์จำนวน 1,800 รูปี ซึ่งกู้มาจากพระคลังข้างที่โดยได้ทรงแบ่งหุ้นกาดหลวงให้แก่เจ้านายในสกุล ณ เชียงใหม่ได้เก็บค่าเช่าเป็นรายเดือนเลี้ยงชีพ ตลาดวโรรสเป็นของสกุล ณ เชียงใหม่มาตลอด กระทั่งมาเปลี่ยนมือเป็นของตระกูลนิมมานเหมินท์

การค้าขายของเมืองเชียงใหม่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ถนนท่าแพนับว่าเป็นถนนสายการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ ตลอดสองข้างทางจะร้านค้าของชาวจีนตั้งเรียงราย จนกระทั่งปัจจุบันร้านค้าเหล่านั้นก็ยังคงเปิดดำเนินการอยู่

ในสมัยก่อนร้านค้าสองฟากถนนท่าแพตั้งแต่บริเวณสี่แยกอุปคุตเรื่อยไปจนถึงบริเวณวัดแสนฝาง ส่วนมากจะเป็นร้านค้าของพ่อค้าชาวพม่าและชาวตองสู เวลานั้นพ่อค้าชาวจีนยังมีน้อยส่วนคนไทยหรือคนพื้นเมืองแทบไม่มีเลย พ่อค้าชาวพม่าและตองสูเหล่านี้ มักจะนิยมเดินทางค้าขายไปมาระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองมะละแหม่งของพม่า โดยใช้ช้างหรือวัวต่าง ม้าต่างบรรทุกสินค้าผ่านเข้าออกที่ด่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นำสินค้าจากเชียงใหม่ไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าของพม่า จากนั้นก็จะนำมาจำหน่ายที่ร้านค้าบริเวณถนนท่าแพ

ถนนท่าแพเชียงใหม่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถนนต้าแป” เป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต แม้ว่าปัจจุบันจะมีแหล่งการค้าแห่งใหม่เกิดขึ้นมากมายทั่วเมืองแต่ชื่อเสียงและมนต์เสน่ห์แห่งถนนท่าแพยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของถนนสายการยุคโบราณเสมอมา ในสมัยก่อนร้านค้าสองฟากถนนเป็นของชาวพม่า ซึ่งเปิดขายสินค้าจำพวกเสื้อผ้า โดยทางร้านจะนำเสื้อผ้าออกมาแขวนห้อยอยู่หน้าร้านเป็นแถว ในหนังสือของบุญเสริม สาตราภัยชื่อ “ลานนาไทยในอดีต” ซึ่งมีภาพเก่าของถนนท่าแพ เป็นภาพที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน

ในหนังสือดังกล่าวพูดถึงถนนท่าแพว่า บริเวณสองข้างทางของถนนท่าแพจะนิยมขายเสื้อผ้าซึ่งเป็นร้านค้าของชาวพม่า ส่วนในภาพที่เห็นผู้หญิงขี่รถจักรยานสองล้อคือบริเวณที่เป็นห้างตันตราภัณฑ์ในปัจจุบัน ถัดไปอีกเล็กน้อยจะสังเกตเห็นว่าตรงนั้นมีตรอกแคบ ๆ มีรั้วไม้สะลายอยู่หัวมุมบ้านไม้ชั้นเดียว บ้านหลังนี้ต่อมากลายเป็นโรงหนังมีชื่อของเชียงใหม่ชื่อ “โรงหนังตงเฮง” ต่อมาก็ได้กลายเป็นโรงยาฝิ่น มีคอขี้ยาระดับเถ้าแก่ เจ้าสัว อาเสี่ย อาแป๊ะ แม้กระทั่งกุลีจับกังเข้าไปสูบฝิ่นในโรงฝิ่นแห่งนี้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้มีการเลิกสูบฝิ่นทั่วประเทศโรงฝิ่นแห่งนี้จึงได้เลิกกิจการ

ช่วงเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว บนถนนสายต่าง ๆ ของเชียงใหม่ ผู้คนจะนิยมเดินทางด้วยการเดิน ส่วนการใช้รถจักรยาน หรือ รถถีบ จะมีน้อยมากนอกเสียจากคนมีเงินมีฐานะจะนิยมใช้รถจักรยานเท่านั้น ส่วนรถยนต์แทบไม่มีให้เห็นเลยส่วนใหญ่จะเป็นพวกเจ้านาย คหบดี ดังนั้นสมัยก่อนหากใครมีรถจักรยานปั่นโชว์ก็นับเป็นเรื่องเท่อย่าบอกใคร…

ส่วนอีกภาพหนึ่งก็เป็นภาพถ่ายถนนท่าแพ สันนิษฐานว่าถ่ายจากบริเวณทางม้าลายใกล้กับห้างตันตราภัณฑ์ และน่าจะเป็นคนละสมัยกันกับภาพแรก ระยะเวลาต่างกันไม่มากนักคงไม่เกิน 10 ปี ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นราวสะพานแม่ข่าอยู่ด้านหลังของผู้หญิงสองคนซึ่งเดินอยู่ตรงกลางภาพ สมัยนั้นสะพานแม่ข่าสร้างด้วยไม้ ส่วนร้านค้าสองฟากถนนเป็นโรงแถวไม้ชั้นเดียวหลังคามุมกระเบื้องดินเผาซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น นอกจากนั้นบริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ในภาพเดียวกัน จะเห็นศาลาประตูหน้าวัดแสนฝางเป็นเงาตะคุ่ม ด้านตรงข้ามกับศาลาวัดแสนฝางก็คือบริเวณโรงภาพยนตร์ศรีวิศาล ซึ่งเป็นโรงหนังที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ปัจจุบันได้เลิกกิจการไปแล้วหลังจากที่ได้มีโรงหนังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเชียงใหม่

หลังจากนั้นมาถนนท่าแพก็มีความเจริญขึ้นตามลำดับ ร้านค้าที่เคยเป็นโรงไม้ชั้นเดียวก็เปลี่ยนมาสร้างด้วยอาคารพานิช 2 ชั้น และมีพ่อค้าชาวจีนเข้ามาตั้งร้านค้าจำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น จนชื่อเสียงของถนนท่าแพกลายเป็นถนนสายการค้าที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่

แต่เมื่อเมืองเชียงใหม่มีเจริญมากยิ่งขึ้นมีพ่อค้า นักธุรกิจเดินทางเข้ามาค้าขายในเชียงใหม่เพิ่มขึ้น ย่านการค้าของเชียงใหม่จึงกระจายออกไปอยู่ทั่วเมือง เกิดห้างสรรพสินค้าที่ทันสมัยพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายทั้งโรงหนัง ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิงก็ถูกรวมหลอมเข้าไปในห้างสรรพสินค้า ความสำคัญของอดีตย่านเศรษฐกิจและการค้าของเชียงใหม่ก็ลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าห้างสรรพสินค้าที่ทันสมัยจะผุดขึ้นมากมายในยุดปัจจุบัน แต่ย่านการค้าสำคัญของเชียงใหม่อย่างกาดหลวงและถนนท่าแพยังคงเป็นสถานที่สำคัญที่อยู่ในความทรงจำของคนเชียงใหม่และใกล้เคียงมิอาจรู้ลืม.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น