เตรียมพร้อม! รับมือพายุฤดูร้อน

ช่วงอากาศร้อน และร้อนต่อเนื่องหลายวัน คนส่วนใหญ่จะนึกถึง พายุฤดูร้อน ซึ่งพายุฤดูร้อนนี้จะเกิดขึ้นทุกปี และมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorms) พายุนี้จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน มักเกิดในราวเดือน มี.ค.-เม.ย. หรือในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน

พายุฤดูร้อน มีความแรง และกินบริเวณกว้าง พายุฤดูร้อนสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน อาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยต่างๆ ต้นไม้โค่นล้ม รวมถึงอาจจะเกิดลูกเห็บตกเป็นบริเวณกว้าง สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน อาคารและทรัพย์สิน

สาเหตุการเกิดพายุฤดูร้อน สำหรับประเทศไทย พายุฤดูร้อนเกิดจากการที่ความกดอากาศสูงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคุลมประเทศไทย จึงทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทย และอากาศที่แห้งและเย็นจากประเทศจีน อากาศเย็นจะผลักให้อากาศร้อนชื้น ลอยตัวขึ้นสู่ข้างบนอย่างรวดเร็ว จนเมื่อไอความชื้นขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ จนก่อตัวเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นก้อนสีเทาเข้มสูงมากกว่า 10 กม. หรือที่เรียกว่าเมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบและฟ้าผ่าตามมา และหากอุณหภูมิบนยอดเมฆต่ำกว่า ลบ 60 ถึง ลบ 80 องศา ก็สามารถทําให้เกิดลูกเห็บตกได้ การเตรียมการรับมือ และการ ป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อนนั้น

สิ่งที่ควรทำก่อนพายุจะมาได้แก่
– ติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศทางวิทยุหรือโทรทัศน์
– รวบรวมและเตรียมชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินให้พร้อม
– ประเมินระดับความปลอดภัยของบ้านท่าน รวมทั้งโรงรถและต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง
– เรียนรู้แผนฉุกเฉินประจำสถานที่เช่น สถานที่ทำงานของท่านหรือที่โรงเรียนหรือที่ศูนย์เด็กเล็ก
– ขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ของท่าน ในการดูแลสัตว์เลี้ยงในสถานการณ์ฉุกเฉิน
– ค้นหาว่าผู้ใดในหมู่บ้านของท่าน ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เช่น คนชรา คนพิการหรือเพื่อนบ้านที่พูดภาษาไทยไม่ได้ เป็นต้น
– เรียนรู้วิธีใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากผู้ขาย หรือหนังสือคู่มือในกรณีที่ท่านมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าส่วนตัว

ส่วนสิ่งที่ควรทำในระหว่างเกิดพายุคือ
– อย่าตกใจ ปกป้องตนเองให้ปลอดภัยและช่วยเหลือผู้อื่น
– ปิดเตาขณะทำอาหารเมื่อไฟฟ้าดับและปิดอุปกรณ์ที่ใช้แก๊สทุกชนิด
– ถ้าท่านอยู่ในบ้านหรือในอาคาร จงเคลื่อนตัวให้ห่างหน้าต่างหรือวัตถุอื่นๆ ที่อาจหล่นลงมาโดนท่านและควรลงไปอยู่ชั้นล่างของบ้านหรือของอาคาร
– ถ้าท่านอยู่นอกบ้าน ควรเข้าไปอยู่ในบ้านหรืออาคาร หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สายไฟฟ้าที่ขาดเสาไฟฟ้าและต้นไม้
– ถ้าท่านกำลังขับขี่ ควรจอดรถ และหยุดในบริเวณที่ห่างจากต้นไม้ ถ้าเป็นไปได้จงวิ่งเข้าไปอยู่ในอาคารที่ปลอดภัย จงอยู่ห่างจากสะพานลอย เสาไฟฟ้าและสิ่งอันตรายอื่นๆ
– จงรับฟังข่าวสารทางวิทยุ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตาม

และสิ่งที่ควรทำภายหลังพายุสงบ ได้แก่
– ตรวจสอบอาการบาดเจ็บของตัวท่าน และบุคคลรอบข้าง
– อพยพจากอาคารที่ได้รับความเสียหาย และห้ามเข้าไปในอาคารดังกล่าว จนกว่าทางราชการจะประกาศรับรองความปลอดภัย
– โทรแจ้ง 191 เฉพาะกรณีฉุกเฉินที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
– ถ้าท่านได้กลิ่นแก๊สหรือได้ยินเสียงวัสดุเสียดสีกัน จงรีบปิดถังแก๊สและเปิดหน้าต่างแล้วหนีจาก อาคารโดยเร็ว ห้ามใช้ไม้ขีดไฟ จุดเทียน จุดไฟ หรือเปิดสวิตช์ไฟฟ้าในอาคาร
– ให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านของท่าน โดยเฉพาะคนชราหรือคนพิการ
– พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือโดยใช้ โทรศัพท์ทางไกลและหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ระดับพื้นที่
– คอยติดตามรับฟังข่าวสารทางวิทยุเพื่อปฏิบัติ ตามคำสั่งหรือรับแจ้งว่าพายุได้สงบลงแล้ว โดยปกติสถานีวิทยุจะแจ้งสถานที่หลบภัยฉุกเฉิน สถานที่ให้บริการด้านสุขอนามัยและรายงาน ความเสียหายที่เกิดขึ้น

และสุดท้ายเราควรจะหลีกเลี่ยงอันตรายจากพายุและฟ้าผ่า เมื่อต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง
-หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้นั่งกอดเข่า โน้มตัวไปข้างหน้า โดยพยายามให้เท้าติดดินน้อยที่สุด และไม่ควรนอนราบกับพื้น เพราะพื้นที่เปียกจะเป็นสื่อนำไฟฟ้ามาทำอันตรายได้
-ไม่ควรหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ เพราะฟ้าอาจจะผ่าลงมาได้ เนื่องจากฟ้าจะมักผ่าลงมาในจุดที่สูงมากกว่า รวมทั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เสาไฟฟ้า เพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับได้
-ควรหลบในอาคาร หรือในรถยนต์ แต่ห้ามอยู่ใกล้ผนังอาคาร และอย่าแตะตัวถังรถเป็นอันขาด เพราะหากเกิดฟ้าผ่าขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าเข้าถึงตัวได้
-ไม่ใส่เครื่องประดับโลหะ รวมทั้งถือวัตถุที่เป็นโลหะ เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน เมื่อต้องอยู่กลางแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากโลหะสามารถนำไฟฟ้าได้
-งดเว้นการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์สื่อสารชั่วคราว เพราะในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง มักเกิดฟ้าผ่า อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

Cr…ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยภิบัติ

ร่วมแสดงความคิดเห็น