ตุงไส้หมู กับ วันพญาวัน

วิถีของคนล้านนา เต็มไปด้วยความเชื่อมากมาย ที่แสดงออกมาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งพิธีกรรม และศิลปะ โดยสะท้อนออกมาในรูปแบบของ “ตุง” เป็นต้น

 
“ตุง” ของล้านนา หากเปรียบกับภาคกลางก็ไม่ต่างจาก “ธง” ซึ่ง ตุง คือศิลปะ ที่มีพิธีกรรม และความเชื่อมาเป็นสิ่งเชื่อมโยงต่อกัน โดยมีผลต่อจิตใจของคนล้านนา วิถีดั้งเดิมที่งดงาม ที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ อันควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้คู่กับสังคมไทยสืบไป โดย “ตุง” จัดเป็นเครื่องสักการะของล้านนาไทย มีตุงหลายชนิดที่ใช้ในพิธีกรรม ทั้งงานฉลอง หรืองานปอย งานสืบชาตา หรือขบวนแห่ต่างๆ
พร้อมทั้งตุงยังมีหน้าที่สำคัญ ที่ผูกพันกับความศรัทธาของชาวล้านนา และยังมีหน้าที่ใหม่เพิ่มเข้ามาได้แก่ การแห่แหนหรือการประดับประดาเพื่อเฉลิมฉลองงานการท่องเที่ยวต่างๆ ตลอดจนมีการพัฒนาตุงในรูปแบบที่ยิ่งใหญ่อลังการขึ้นมาอีก เช่น การแห่ตุงพันวาในขบวนแห่สลุงหลวงที่ จ.ลำปาง และในขบวนแห่ต่างๆ ที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย เป็นต้น
ซึ่ง “ตุง” มีขนาด รูปร่าง และรายละเอียดด้านวัสดุตกแต่งที่แตกต่างกันออกไปตามความเชื่อ และพิธีกรรมตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น
และพร้อมกันนี้ชาวเหนือยังมีจุดมุ่งหมายในการใช้ตุงเพื่อเป็นพุทธบูชามาอย่างช้านาน และยังเชื่อว่าการได้ถวายตุงเป็นการสร้างกุศลให้กับตนเอง แถมทั้งยังใช้ในการสะเดาะเคราะห์ขจัดภัยพิบัติต่างๆ ให้หมดสิ้น และ ตุง ยังเป็นการอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย นอกจากนี้จุดมุ่งหมายในการใช้ตุงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการใช้เพื่อการเฉลิมฉลองศาสนสถาน ศาสนวัตถุ หรือสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์อีกด้วย
สำหรับห้วงบรรยากาศของ “ปี๋ใหม่เมือง” หรือ “สงกรานต์” นั้น ตุงที่มีให้เห็นกันจนชินตา ก็จะเป็นตุง 12 ราศี หรือตุงไส้หมูเสียเป็นส่วนใหญ่
ตุงไส้หมู มีลักษณะเป็นพวงประดิษฐ์ รูปร่างคล้ายจอมแหหรือปรางค์ ทำจากกระดาษสีหรือกระดาษแก้วสีต่างๆ อย่างน้อยแผ่นละสี มาวางซ้อนกันแล้วพับทแยงมุมหลายๆทบ ใช้กรรไกรตัดสลับกันเป็นลายฟันปลาจนถึงส่วนปลายสุด เมื่อคลี่ออก และจับหงายขึ้น จะเห็นเป็นพวงกระดาษที่สวยงาม ใช้สำหรับบูชาพระธาตุประจำปีเกิด และในประเพณีปี๋ใหม่เมือง
ตุงไส้หมู จะถูกเตรียมขึ้นในวันดา โดยสล่าตัดตุงไส้หมู จะนำกระดาษสีต่างๆ มาตัดให้เป็นตุงไส้หมู แล้วนำไปผูกกับไม้ไผ่เหลาเป็นแท่งกลม หรือนำไปผูกกับก้าน “ต้นเขือง” เพื่อเตรียมไปปักยังเจดีย์ทรายภายในลานวัดใน “วันพญาวัน” หรือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะตรงกับวันที่ 15 เมษายนของทุกปี

ร่วมแสดงความคิดเห็น