ตามรอย “ไต” ในสิบสองปันนา

เมื่อกล่าวถึงกลุ่มชนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในดินแดนเอเชียอาคเนย์ ในจำนวนนั้นน่าจะมีชื่อของชนชาติ “ไต” หรือ “ไท” แม้จะยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมากนัก แต่นักวิชาการหลายสาขาก็มีความเห็นตรงกันว่า “ชนเผ่าไท” อยู่ในกลุ่มชนเผ่าดั้งเดิมยุคแรก ๆ ของโลก อาจจะเก่าแก่เสียยิ่งกว่าชาวจีนและชาวฮิบรูในอิสราเอลเสียอีก

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีระบุว่า ชาวไทลื้อ ดำรงความเป็นชนชาติมานานกว่า 2,000 ปี แต่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของไตลื้อนั้นถูกสถาปนาขึ้นในช่วงเวลาก่อนหน้าอาณาจักรสุโขทัยไม่นานนัก

ปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนความรุ่งเรืองของสิบสองปันนามาแต่อดีตกาลก็คือ การเป็นดินแดนที่มีอากาศแบบป่าฝนเมืองร้อน มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีเพียง 21 องศาเซลเซียส มีฝนตกชุกแต่ไม่มีน้ำแข็งหรือหิมะ จึงทำให้ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่มตลอดปี เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ มีความหลากหมายทางชีวภาพ ทั้งยังมีทัศนียภาพที่สวยงามแวดล้อมด้วยภูเขาและป่าไม้ทึบ

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สิบสองปันนาได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำของมณฑลยูนนาน” เป็นอาณาจักรแห่งต้นไม้ และไข่มุกสีเขียวของจีนทำให้นักประวัติศาสตร์หลายท่านลงความเห็นว่า ด้วยปัจจัยเช่นนี้ จึงทำให้ชาวไตลื้อสิบสองปันนาดำรงชนชาติสืบเนื่องมานานถึงพันกว่าปี

ความสำคัญของสิบสองปันนา ไม่ได้อยู่ที่เป็นเมืองขึ้นชื่อในเรื่องการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ทว่าในอดีตจนถึงปัจจุบันเมืองแห่งนี้ยังเป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของชาว “ไต” และหากและกล่าวว่าชาวไตในสิบสองปันนาเป็นบรรพบุรุษแห่งรากเหง้าเผ่าพันธุ์ของ “คนไทย” ในปัจจุบันก็คงไม่ผิดนัก ขณะเดียวกันในสิบสองปันนายังมีพื้นที่ราบอันกว้างใหญ่ที่มีการทำเกษตรกรรมมานับพันปี

จากประวัติศาสตร์ของจีนที่เกี่ยวข้องกับเมืองสิบสองปันนา หรือที่สมัยนั้นเรียกว่า “เซอหลี่” ได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า สิบสองปันนาเป็นดินแดนที่มีความเจริญทางด้านเกษตรกรรมมากที่สุด พวกเขารู้จักใช้แรงงงานช้างในการไถและพรวนดิน มีระบบการชลประทานที่พร้อมบริบูรณ์เพื่อเพิ่มพูนผลผลิตข้าว จึงไม่แปลกใจที่ไปสิบสองปันนาแล้วมองลงมาจากเครื่องบินจะเห็นที่ราบทุ่งนาเขียวขจี พื้นที่เกษตรกรรมที่ว่ากันว่าข้าวจากที่นี่ใช้เลี้ยงผู้คนกว่าครึ่งในมณฑลยูนนาน
เชียงรุ่ง หรือ เชียงรุ้ง หรือ จิ่งหง ในภาษาจีน เป็นเมืองเอกของสิบสองปันนา มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน คำว่า “เชียงรุ่ง” หมายถึงนครแห่งรุ่งอรุณ ซึ่งตั้งขึ้นตามความหมาย

ขณะที่บรรพบุรุษของชาวไตในสิบสองปันนาชื่อ “พญาอาลาโว” ซึ่งเป็นหัวหน้าได้นำลูกบ้าน 15 คน ไล่ตามกวางทองจนมาถึงดินแดนแห่งนี้แล้วพบเห็นทำเลที่สวยงามจึงตัดสินใจตั้งหลักแหล่งขึ้น

โดยได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 15 หมู่บ้าน เรียกว่า “อาลาวี” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เชียงรุ่ง” ซึ่งพญาอาลาโวได้ไล่ตามกวางทองมาถึงดินแดนแห่งนี้เป็นเวลารุ่งเช้าพอดี สมัยต่อมาเมื่อมีการจัดการปกครอง “เมืองลื้อ” ขึ้นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ชาวไตลื้อที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ได้ทำการติดต่อกับราชวงศ์ถังของจีน แต่เนื่องจากการติดต่อกับชนชาวฮั่นมีความไม่สะดวกเพราะอยู่ห่างไกลกันมาก ประกอบพูดภาษากันม่รู้เรื่อง ชาวไตในเมืองลื้อจึงหันมาติดต่อกับทางหนานเจา (เมืองน่านเจ้า) และ ต้าหลี่ (เมืองตาลีฟู) เพราะอยู่ใกล้และพูดคุยกันรู้เรื่อง

เมื่อถึงสมัยพญาเจิง ชาวไตแห่งเมืองลื้อ ประกาศไม่ขึ้นต่ออาณาจักรต้าหลี่และราชวงศ์ซ่งไต้ของจีน ตลอดจนพม่าซึ่งก่อนหน้านั้นเข้ามามีอิทธิพลทางการค้าเหนือเมืองลื้อ พญาเจิงได้ยกทัพไปตีเมืองต่าง ๆ ในเขตใกล้เคียงมาไว้ในอำนาจ รวมถึงล้านนา ลาว เชียงตุง สมัยนี้เองที่ได้มีการจัดตั้งเป็นอาณาจักรสิบสองปันนาขึ้น พญาเจิงได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินองค์แรก (พ.ศ.1703 – 1724) มีกษัตริย์ปกครองถึง 44 พระองค์ รวมระยะเวลาที่สิบสองปันนาปกครองในระบอบกษัตริย์ยาวนานถึงกว่า 800 ปี

แต่ภายหลังที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้เคลื่อนเข้าไปในสิบสองปันนายกฐานะเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา สังกัดมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Xishaungbanna Dai Autonomous Prefecture” ยุติระบอบกษัตริย์แห่งอาณาจักรสิบสองปันนา เจ้าหม่อมคำลือ เชื้อพระวงศ์องค์สุดท้ายถูกลดฐานะเป็นแค่ประธานกรรมการประสานงานเขตปกครองตนเอง มีชื่อในภาษาจีนว่า “ตาวซื่อซิน”

ในสิบสองปันนามีประชากรทั้งหมดกว่า 7 แสนคน มีชนชาติ “ไต” หรือ “ไท” อาศัยอยู่ประมาณ 2 แสนคน ที่เหลือเป็นคนจีน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 นับถือศาสนาพุทธ ความโดดเด่นของชาวไตลื้อในสิบสองปันนาคือ การสร้างบ้านเรือนด้วยไม้ไผ่ยกเสาสูง ภายในบ้านจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่ใช้เป็นห้องนอนและส่วนที่ใช้รับแขก รอบ ๆ บ้านนิยมปลูกต้นผลหมากรากไม้เอาไว้

จะว่าไปเมืองเชียงรุ้ง นับว่ามีความเจริญเป็นอย่างมาก อาคารพานิชน้อยใหญ่ผุดขึ้นหลายแห่ง บริเวณในเมืองเป็นที่อยู่ของชาวจีนที่เข้ามาค้าขายสินค้า ถนนในเมืองมีเพียงรถยนต์ไม่กี่คันส่วนใหญ่ชาวจีนนิยมใช้รถจักรยานและมอเตอร์ไซด์ ริมทางเท้าจะเห็นหญิงสาวในชุดไตลื้อ นุ่งผ้าถุงยาวสวมเสื้อแขนกระบอกเวลอยเดินสวนกับสาวชาวจีนในชุดกระโปร่งสั้น สวมถุงน่องและรองเท้าส้นสูง การผสมผสานระหว่าง “ความใหม่” กับ “ความเก่า” นับเป็นเสน่ห์ของเมืองเชียงรุ้งที่ดำรงอยู่ได้อย่างกลมกลืน

ขณะที่หมู่บ้านต่าง ๆ รอบเมืองจะเป็นหมู่บ้านของชาวไทลื้อ ซึ่งมีวิถีชีวิตและบรรยากาศคล้ายคลึงกับชนบทในบ้านเรา การแต่งกายของชาวไตลื้อ ผู้ชายส่วนใหญ่จะใส่เสื้อผ่าอก แขนสั้นเอวลอย นุ่งกางเกงขายาวใช้ผ้าสีขาวหรือสีน้ำเงินพันรอบศรีษะ ส่วนหญิงชาวไตลื้อจะนิยมใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาด เช่น ขาว แดง น้ำเงิน เหลือง แบบรัดตัวแขนทรงกระบอก นุ่งซิ่นครอมส้น คาดเข็มขัดเงินเมื่อไปเยือนเมืองเชียงรุ่ง ต้องไม่พลาดที่จะไปเยี่ยมชมตลาดเช้าไตลื้อที่ ตลาดกาหลัมป้า เมืองฮัม ซึ่งอยู่ห่างนอกเมืองเชียงรุ่งไปอีกประมาณ 45 กม. ที่นี่มีสินค้าพื้นเมืองหลากหลายชนิดวางขาย ได้แก่ ผ้าซิ่นไตลื้อ ผ้าทอ ผสมปนเปกับอาหารพื้นเมืองจำพวก ผัก ผลไม้ ของป่า ยาสมุนไพร สีสันของตลาดเช้ากาหลัมป้าอยู่ที่การแต่งกายของแม่ค้าชาวไตลื้อ นิ่งผ้าซิ่น โพกหัวด้วยผ้าหลากสี ส่วนภาษาที่พูดคล้ายกับภาษาคำเมืองของล้านนา แต่ว่าสำเนียงอาจเพี้ยนออกไปทางภาษาชาวยอง

การแวะเวียนไปเยี่ยมพี่น้องที่บ้านเมืองฮัม ทำให้เราได้พบพี่ชายพี่สาวชาวไทลื้อหลายคน ที่ออกปากเชื้อเชิญให้ไปเที่ยวบ้าน เมื่อรู้ว่าเราเป็นคนไทยมาจากประเทศไทย น้ำใจไมตรีเช่นนี้แม้จะหาแทบไม่ได้ในสังคมเมืองกรุง แต่ยังพบได้ในสังคม “ไต” แท้ที่สงบงามอย่างสิบสองปันนาการดำรงอยู่ของกลุ่มชนชาว “ไต” ในท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมของชนชาวจีนในเมืองสิบสองปันนาที่ผสมผสานปนเปกับวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม จะคงเหลืออยู่ต่อไปอีกนานแค่ไหน ในเมื่อสิบสองปันนาเคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของชาวไตลื้อ แต่วันนี้พวกเขาเป็นเพียงชนชาติส่วนน้อยในจีนและบ้างก็เป็นผู้พลัดถิ่นในดินแดนไทยและพม่า

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น