กลุ่มพ่อค้าชาวเงี้ยวที่เข้ามาค้าขายในเมืองลำพูนยุคแรก

ในสมัยของพระเจ้าบุญมาเมือง เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 2 (พ.ศ.2358 – 2370) ถือได้ว่านครลำพูนมีการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะการติดต่อค้าขายกับกลุ่มพ่อค้าชาวพม่า หรือ เงี้ยว ปี พ.ศ.2369 ช่วงปลายสมัยของพระเจ้าบุญมาเมือง เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 2 ต่อต้นสมัยของเจ้าหลวงน้อยอินทร์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 3 (พ.ศ.2370 – 2381) ได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวอังกฤษ ซึ่งขยายอาณาเขตเข้ามายึดครองพม่า ทำให้เขตแดนของล้านนาติดต่อกับเขตแดนอังกฤษ ส่งผลให้ชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาค้าขายในดินแดนล้านนา

ปี พ.ศ.2371 เจ้านครลำพูน ได้ส่งหนังสือไปยังข้าหลวงอังกฤษที่เมืองเมาะละแหม่ง โดยเชิญให้ข้าราชการอังกฤษเดินทางมายังนครลำพูน จนปี พ.ศ.2372 ดร.ริชาร์ดสัน (Richardson) ข้าหลวงอังกฤษประจำประเทศพม่า ได้เดินทางเข้ามาพร้อมกับกลุ่มพ่อค้าชาวเงี้ยว 12 คน มาถึงนครลำพูนเพื่อเจรจาซื้อโค และกระบือ หลังจากนั้น ดร.ริชาร์ดสัน ก็ได้เดินทางไปมาระหว่างพม่ากับล้านนาอีกหลายครั้ง เพื่อติดต่อค้าขายรวมถึงการสำรวจเส้นทางที่จะไปยังจีนตอนใต้

เนื่องจากหัวเมืองมอญที่อังกฤษยึดจากพม่านั้นเป็นเขตที่อุดมไปด้วยไม้สัก ดังนั้นจึงมีชาวอังกฤษตั้งโรงเลื่อยขึ้นที่เมืองเมาะละแหม่ง เพื่อเลื่อยไม้ไปขายต่างประเทศ ต่อมาเมื่อกิจการทำไม้ได้ขยายตัวมากขึ้น ทำให้คนในบังคับของอังกฤษ ได้เข้ามาทำไม้อยู่ในลำพูน ดังมีเอกสารในรัชกาลที่ 3 ว่า เมื่อ พ.ศ.2385 (สมัยเจ้าหลวงธรรมลังกา) มีหนังสือจากเจ้าพระยาจักรีมาถึงหัวเมืองฝ่ายเหนือแจ้งว่า พวกมอญ เงี้ยว (พม่า) อังกฤษ เคยซื้อไม้ตามเขตชายแดนภาคเหนือ โดยได้ขอเข้าไปตัดไม้ในป่าแขวงเมืองตาก เมืองเชียงใหม่และเมืองลำพูน ทำให้ลำพูนกับเมาะละแหม่งมีการติดต่อค้าขายกันมากขึ้น ในช่วงเวลานี้มีพ่อค้าชาวเงี้ยวเดินทางเข้ามายังเมืองลำพูนอีกหลายกลุ่ม

นอกจากการทำไม้แล้วพ่อค้าเงี้ยวยังมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยใช้เงินแถบ หรือ เงินรูปีของอินเดียช่วงปี พ.ศ.2404 – 2426 มีการทำป่าไม้ในลำพูนของพ่อค้าเงี้ยวบางกลุ่มกับเจ้านายเมืองลำพูน จนถึงช่วงที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ บริษัทของอังกฤษในพม่าได้ทำกิจการทำไม้ ทำให้พื้นที่ป่าของพม่าลดลง ส่งผลให้เข้ามาทำป่าไม้ในล้านนา โดยปี พ.ศ.2432 บริษัท บริติช บอร์เนียว จำกัด และ พ.ศ.2335 บริษัท บอมเบย์ เบอร์ม่า ได้เข้ามาตั้งบริษัทอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำกวง ด้านทิศตะวันออกตรงข้ามวัดพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งกลุ่มคนเงี้ยวที่ทำงานให้กับบริษัท บอมเบย์ เบอร์ม่า ลำพูน ได้ชักชวนกลุ่มพ่อค้าซึ่งเป็นเครือญาติให้เข้ามาค้าขายในเมืองลำพูนกลุ่มพ่อค้าเงี้ยวที่ถูกชักชวนเข้ามาค้าขายในลำพูนนั้น ได้ตั้งร้านค้าอยู่บนถนนอินทยงยศ ตั้งแต่บริเวณจวนข้าหลวงเรื่อยไปจนถึงหลังวัดพระธาตุหริภุญชัย เปิดเป็นร้านค้าขายสินค้าประเภทยาสมุนไพร ขายเครื่องเทศ ตีทองรูปพรรณ ออกเงินกู้ รวมไปถึงการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินแถบ (รูปี) กับคนพื้นเมืองลำพูน

นอกจากนั้นยังมีกลุ่มพ่อค้าเงี้ยวเข้ามาอาศัยและตั้งบ้านเรือนอยู่ในย่านบ้านสันป่ายางหน่อม เหมืองง่า เชตวันและป่าเส้า ขายยาสมุนไพรและเครื่องเทศ โดยใช้วิธีเร่ขายไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ รอบเมืองลำพูน ขณะเดียวกันในด้านศาสนา กลุ่มพ่อค้าเงี้ยวยังได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นมาอีกหลายแห่ง ซึ่งมีรูปแบบของสถาปัตยกรรมพม่า เช่น วัดมัณฑะเลย์ (วัดสุพรรณรังษี) โดยมีเจ้าอาวาสและพระลูกวัดเป็นชาวพม่า

ปัจจุบันสถาปัตยกรรมของชาวเงี้ยวที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เจดีย์วัดเหมืองง่า และมณฑปวัดเชตวันหนองหมู ซึ่งให้ช่างชาวพม่าชื่อ โม่ส่วย เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างอย่างไรก็ตามกลุ่มพ่อค้าเงี้ยว ซึ่งมีบทบาทมากกว่ากลุ่มพ่อค้าจีนในสมัยนั้น ได้สร้างความสัมพันธ์กับคนพื้นเมือง โดยได้แต่งงานอยู่กินและมีลูกหลานสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีกลุ่มลูกหลานชาวเงี้ยวอาศัยอยู่ในเมืองลำพูน ต่างจากกลุ่มคนจีนซึ่งมีการผสมผสานกับกลุ่มคนเมืองและคนยองน้อยมาก จะนิยมแต่งงานอยู่กินกับกลุ่มคนจีนด้วยกัน เนื่องจากมีวัฒนธรรมและประเพณีเฉพาะของคนจีนเอง

ดังนั้นอาจเรียกได้ว่า กลุ่มคนเงี้ยวที่เข้ามาค้าขายในลำพูนมีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของเมืองลำพูนในเวลาต่อมา เชื้อสายของคนลำพูนรุ่นหลัง ๆ จึงสืบเชื้อสายมาจาก
ชาวเงี้ยวไม่น้อยไปกว่ากลุ่มคนยอง แต่อย่างใด

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น