“เจ้าอินทยงยศโชติ” เจ้าหลวงลำพูนผู้มีบทบาทในการสร้างถนน

เจ้าอินทยงยศโชติ หรือ เจ้าน้อยหมวก ณ ลำพูน เป็นราชบุตรของเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์กับแม่เจ้าปิมปา เจ้าหลวงเมืองลำพูนองค์ที่ 7 ในวัยหนุ่มเจ้าน้อยหมวกรับราชการช่วยพระบิดาอย่างใกล้ชิด ทรงปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความขยันขันแข็ง รวมทั้งมีความมานะพยายาม

เจ้าน้อยหมวกได้รับพระราชทานเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ตามลำดับ จนกระทั่งได้เป็นเจ้าราชวงศ์ในสมัยเจ้าหลวงเหมพินธ์ไพจิตร ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 8 ต่อจากพระราชบิดา หากจะนับตามศักดิ์แล้วเจ้าหลวงเหมพินธุ์ไพจิตร มีศักดิ์เป็นเจ้าอาคือ เป็นอนุชาต่างมารดาของเจ้าพ่อดาราดิเรกรัตน์ ภายหลังเมื่อเจ้าพ่อถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าน้อยหมวก ก็ได้เข้ารับราชการร่วมกับเจ้าเหมพินธ์ไพจิตร ต่อมาอีก 7 ปี (พ.ศ.2431-2438) เจ้าหลวงเหมพินธ์ไพจิตรก็ถึงแก่พิราลัย เจ้าน้อยหมวกจึงได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์จากเจ้าราชวงศ์ขึ้นเป็น เจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2438 ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าอินทวิชชายานนท์ (เจ้าอินทนนท์) เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
เจ้าอินทยงยศโชติ แต่เดิมเป็นพระไชยสงครามแล้วเลื่อนตำแหน่งมาเป็นเจ้าราชวงศ์ และครั้งสุดท้ายได้รับพระสุพรรณบัตร เป็นเจ้าอินทยงยศโชติ และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 9 ใน พ.ศ.2438

เจ้าอินทยงยศโชติ เป็นเจ้าหลวงลำพูนที่นับได้ว่ามีบุญญาธิการมากพระองค์หนึ่ง เนื่องจากท่านทรงมีราชบุตรที่มีความสามารถในการพัฒนาบ้านเมืองแทนพระองค์ท่าน คือ เจ้าน้อยจักรคำ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาวังขวา เป็นเจ้าบุรีรัตน์และเลื่อนเป็นพลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 10 ในเวลาต่อมา

เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวปล้นเมืองลำปาง เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ก็ได้เป็นหัวแรงสำคัญในการป้องกันเมืองลำพูน โดยท่านพร้อมกับเจ้าราชวงศ์ไชยเทพ (บุญเป็ง) ต่อมาเป็นต้นตระกูล ธนันชยานนท์ ได้ช่วยกันปราบปรามพวกกบฏเงี้ยวโดยได้อาสารับรองต่อเจ้าอินทยงยศโชติ ไม่ให้มีความตระหนกตกใจต่อข่าวการจลาจลของเงี้ยว

นอกจากนั้นแล้วในสมัยที่เจ้าอินทยงยศโชติ เป็นเจ้าหลวงลำพูน นับได้ว่าเป็นยุคของการพัฒนาชุมชนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการตัดถนนจากเมืองลำพูนไปเชียงใหม่ และจากเมืองลำพูนไปเวียงป่าซาง รวมทั้งการทำเหมืองฝายขึ้นอีกมากมาย จากหลักฐานแผนที่ซึ่งเขียนโดยกระทรวงมหาดไทย ระหว่าง ปี พ.ศ.2440-2450 ในสมัยของเจ้าหลวงอินทยงยศโชตินั้น แสดงให้เห็นถึงการตัดถนนสายสำคัญ ๆ ในเมืองลำพูน

แผนที่ดังกล่าว เป็นแผนที่ ๆ หอจดหมายเหตุแห่งชาติได้รับมอบจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ว่าจ้างชาวต่างชาติให้ขึ้นมาสำรวจสภาพภูมิประเทศของเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือ ประเด็นที่ได้รับความสนใจอยู่การเขียนชื่อของถนนสายต่าง ๆในเมืองลำพูน ซึ่งเรียกเพี้ยนผิดไปจากปัจจุบัน อาทิ ถนนมุกดาในแผนที่ ปัจจุบันคือถนนวังขวา ถนนภาคีนัยคือถนนรอบเมืองนอก ถนนวังขวาปัจจุบันคือถนนรอบเมืองใน ถนนแว่นคำคือถนนอัฎฐารส ถนนราชวงศ์คือซอยข้างศาลากลางลำพูนด้านทิศเหนือ นอกจากนั้นยังทำให้ทราบอีกว่า ถนนเจริญราษฏร์ ที่มุ่งหน้าจากลำพูนไปเชียงใหม่นั้น แท้ที่จริงในอดีตถนนสายนี้มีชื่อว่า ถนนสุริยะ ปัจจุบันแผนที่โบราณดังกล่าวจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน ในคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์

เจ้าอินทยงยศโชติ ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.2454 จากนั้นราชบุตรของท่านคือ พลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (ในขณะนั้นเป็นเจ้าบุรีรัตน์นครลำพูน) ได้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนแทน นับเป็นเจ้าหลวงลำพูนองค์ที่ 10

ในปี พ.ศ.2469 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ดำเนินนโยบายยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวง หากเจ้าหลวงเมืองใดว่างลงจะไม่โปรดเกล้าฯแต่งตั้งขึ้นอีก ดังนั้นเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูนก็คือ พลตรีมหาอำมาตย์โทเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครไปแล้ว หากแต่ผู้สืบสกุล “ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง” ทุกคนก็ยังคงดำรงสถานะความเป็น “เจ้า” โดยกำเนิดต่อไป

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น