เปิดวาร์ป 10 ชุมชนน่าเที่ยว ใน 10 อำเภอของเชียงใหม่ เพื่อการท่องเที่ยว โดยชุมชนสานพลังประชารัฐ

นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า สำหรับโครงการส่งเสริมหมู่บ้านชุมชนสานพลังประชารัฐ เกิดจากแนวคิดที่ว่า ทางรัฐบาลต้องการที่จะผลักดันชุมชนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เนื่องการการท่องเที่ยวนั้นได้สร้างรายได้ ให้แก่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แต่การท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่แค่ในบริเวณเมืองใหญ่ๆ จึงเกิดกระแสที่ว่านักท่องเที่ยวอยากมาสัมผัสวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ของแต่ชุมชนมากขึ้น จึงได้มีแนวคิดที่จะให้เกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้น

 

รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จ.เชียงใหม่เองก็เป็นจังหวัดที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์ที่จะช่วยดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวให้เข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ และประเทศไทยในลักษณะของการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยการใช้คำว่า “สานพลังประชารัฐ” ซึ่งต้องผลึกความร่วมมือกันจากทุกส่วนทั้งทางท้องที่ ท้องถิ่น หรือทางส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายหลักคือการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมวิถีชีวิตธรรมชาติของชุมชน ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างยั่งยืน

ด้าน นายอภิวัฒน์ ธีระวาสน์ พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยสํานักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดําเนินการส่งเสริมและพัฒนาคลังภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อรวบรวมเรื่องราวภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นํามาใช้ในการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP อีกทั้งยังส่งผลต่อการดํารงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมให้คงอยู่ในชุมชน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและหวงแหนภูมิปัญญาของท้องถิ่นตนเอง และเป็นการสืบสานภูมิปัญญา ท้องถิ่นแก่คนรุ่นหลังรวมถึงเป็นการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป จึงได้จัดทําโครงการส่งเสริมหมู่บ้านชุมชน สานพลังประชารัฐจังหวัดเชียงใหม่ โดยกิจกรรมเชื่อมโยงเส้นทางและประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยว หมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชนสานพลัง ประชารัฐ เพื่ออนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เสริมสร้างประสบการณ์ในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และพัฒนา ทรัพยากรของชุมชนให้มีคุณค่า สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน สามารถจูงใจให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้และท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ทั้ง 10 หมู่บ้าน ดังนี้

1.บ้านลวงเหนือ หมู่บ้านวิถีชีวิตไทลื้อ ตั้งอยู่ที่ ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด ชาวไทลื้อที่นี่ในอดีตได้อพยพมาจากเมืองลวง สิบสองปันนา(ประเทศจีน) ดังนั้นชาวบ้านยังคงยืดถือขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไว้ได้อย่างเหนียวแน่น บ้านลวงเหนือ มีวัดศรีมุงเมือง วัดที่ชาวบ้านให้ความเคารพบูชา เป็นวัดเก่าแก่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1944 สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ปัจจุบันวัดได้ถูกบูรณะขึ้นใหม่ให้สวยงาม จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

วัดดอยแท่นพระผาหลวง

2.บ้านโปง หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ ตั้งอยู่ที่ ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าเสื่อมโทรมลง แต่เมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎร ได้มีพระราชดำรัสให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและแหล่งน้ำในเขตบริเวณบ้านโปง ทำให้ป่าของที่นี่กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง กลายเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่มากกว่า 3,500 ไร่ เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติและแหล่งความรู้ทางธรรมชาติ ทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายจุด อาทิ อ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ วัดดอยแท่นพระผาหลวง ที่มีอายุกว่ามากกว่า 700 ปี แม่โจ้ฟาร์ม เป็นต้น

3.บ้านปงไคร้ หมู่บ้านอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ แหล่งปลูกกล้วยไม้สวยขึ้นชื่อของเมืองไทย ตั้งอยู่ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านมีสภาพอากาศเย็นเกือบตลอดปี จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมาะแก่มาสัมผัสธรรมชาติ บ้านปงไคร้เป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งขึ้นมากว่า 200 ปี มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายจุด อาทิ วัดพระธาตุศรีชลกร ไร่สตอเบอรี่ ทั้งยังเป็นแหล่งที่มาของการเพาะพันธุ์กล้วยไม้ชื่อ ”ฟ้ามุ่ย” ดอกไม้ที่สวยขึ้นชื่อของเมืองไทย ซึ่งจะสามารถพบเห็นได้เฉพาะที่หมู่บ้านนี้เท่านั้น ณ ศูนย์อนุรักษ์กล้วยไม้ฟ้ามุ่ยท้องถิ่นบ้านปงไคร้

4.บ้านกิ่วลม หมู่บ้านวิถีชีวิตชาวลัวะ ตั้งอยู่ที่ ต.บ่อหลวง อ.ฮอด เป็นหมู่บ้านที่มีความงามทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ผสานความแตกต่างของชนเผ่า ลัวะ , ปกากะญอและคนพื้นเมือง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้น คือสวนสนบ่อแก้ว สวนสนสามใบเรียงรายสวยงามบนพื้นที่กว้างขวาง ในเนื้อที่ 2,072 ไร่ และมีวัดกิ่วลม ที่สร้างโดยชาวไทยเผ่าลัวะ เป็นต้น

5.บ้านดงสามหมื่น หมู่บ้านวิถีชีวิตชาวเผ่าม้ง ตั้งอยู่ที่ ต.แม่แดด อ.กัลยาณิวัฒนา เป็นแหล่งปลูกสตรอเบอรรี่ แหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ และเป็นอาชีพหลักของชนเผ่าม้ง ป่าอนุรักษ์บ้านดงสามหมื่น เป็นจุดเป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่ชอบชื่นชมธรรมชาติในกิจกรรมเดินป่า จึงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนสวรรค์ของนักชมนก

เฮือนหลวงมหาวรรณ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน

6.บ้านหลวง หมู่บ้านตัวอย่างตามรอยเท้าพ่อ ตั้งอยู่ที่ ม.6 ต.โหล่งขอด อ.พร้าว เป็นหมู่บ้านที่มีความโดดเด่นด้านการเกษตร โดยมีปราชญ์ชุมชนแนะนำในการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม มีศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบเกษตรอินทรีย์ทั้งพืชผัก การเลี้ยงปลานิล การเลี้ยงกบนา การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงไก่ประดู่หางดำและ การทำเครื่องปั้นดินเผา มีสวนเกษตรลำไยและมะม่วงน้ำดอกไม้ จึงทำบ้านหลวงได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการ “หมู่บ้านตัวอย่างตามรอยเท้าพ่อ” และรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ดีเด่นระดับจังหวัด และยังมีวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล เป็นที่ประดิษฐานพระมหาธาตุเจดีย์นครคีรีนพบุรีบ้านหลวงศรีดอนไชย โบราณสถานเก่าแก่ของอำเภอพร้าว อายุกว่า 700 ปี และเฮือนหลวง มหาวรรณ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่รวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุซึ่งเป็นมรดกสืบทอดจากบรรพบุรุษกว่า 8,000 ชิ้น

7.บ้านปงห้วยลาน หมู่บ้านวิถีพอเพียง ตั้งอยู่ที ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง ในอดีตเป็นหมู่บ้านที่แห้งแล้งทุรกันดารและขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และใช้ในการเกษตร จนเมื่อวันที่ 16 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2530 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังพื้นที่บ้านปงห้วยลาน และทรงทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีพระราชดำรัสสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น และได้พระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำนี้ว่า “อ่างเก็บน้ำห้วยลาน” และหลังจากนั้น ผืนป่าห้วยลานจึงกลับมาอุดมสมบูรณ์ มีน้ำใช้ในการอุปโภค บริโภค และใช้ในการเกษตร ที่นี่ยังมีหน่วยงานป่าไม้ และสถานีประมง ที่เป็นแหล่งเรียนรู้วิธีการเพาะพันธุ์ปลานิลและสัตว์น้ำ ทั้งยังมี “ศูนย์ผ้าทอมือบ้านปงห้วยลาน” ซึ่งเป็นการทอผ้าฝ้ายแบบโบราณ และยังมีการสาธิตการทำขนมขี้แมว ขนมขึ้นชื่อของหมู่บ้าน มีเตาเผาโบราณ งานจักรสานต่างๆ เป็นต้น

8.บ้านต้นกอก หมู่บ้านวิถีชิวิตไทเขิน ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง เป็นชุมชนชาวไทยเขิน ซึ่งอพยพม่าจากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ทั้งยังเป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์ที่ยาวนานนับพันปี มีโบราณสถาน อายุ 1,300 ปี ซึ่งในอดีตบ้านต้นกอกเป็นอาณาเขตส่วนหนึ่งของเวียงท่ากานเมืองหน้าด่านแห่งอาณาจักรหริภุญชัย มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายจุด อาทิ งานหัตถกรรมเครื่องเขิน ผ้าทอและชมบ้านไทเขินโบราณ เรือนไม้ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมโดดเด่น มีสินค้าโอท็อปที่ “เสื้อผ้าภูดาว” ซึ่งเป็นชุดไทเขินแบบประยุกต์ เป็นต้น

9.หมู่บ้านปางขุม หมู่บ้านวิถีชุมชนเผ่าหลากหลายชาติพันธุ์ ตั้งอยู่ที่ ต.ยั้งเมิน อ.สะเมิง เป็นหมู่บ้านที่มีชนเผ่าอาศัยอยู่หลายชนเผ่า ทั้ง กะเหรี่ยง ลีซอ ม้ง และคนเมือง ดังนั้นการมาที่บ้านปางขุมจึงได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของแต่ละชนเผ่า สร้างสีสันในการท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร เช่น การทำสวนสตรอเบอร์รี่ สวนดอกไม้เบญจมาศ และนาข้าวขั้นบันได เป็นต้น โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นคือ ดอยม่อนอังเกตุ

10.บ้านป่าตึง หมู่บ้านวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอ ตั้งอยู่ที่ ต. ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม เป็นหมู่บ้านที่คงความงามตามธรรมชาติหลังขุนเขาดอยอินทนนท์ โดยบ้านป่าตึงมีชื่อเสียงในเรื่องความงามของนาขั้นได และมีอาหารที่ขึ้นชื่อคือ ข้าวเบอะ(ต่าพอเผาะ)

ทั้งนี้ยังได้มีการดำเนินโครงการอื่นๆอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ชุมชนมีความเข็มแข็ง เกิดการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ช่วยให้เศรษฐกิจในเรื่องของการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ดีขึ้น ซึ่งในกลางปีนี้ยังได้มีการดำเนินการโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่มี 43 หมู่บ้าน เพื่อจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ให้คนในชุมชนบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนสืบไป นายอภิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น