ศาลามณฑลพายัพ สู่ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

ศาลามณฑลพายัพ สู่ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
0.9.138
หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่บริเวณ ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาคารเก่าแก่ ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมอันงดงาม สร้างขึ้นในสมัยรัชการที่ 6 เคยเป็นศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ และเป็นศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ อาคารนี้ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่ากลางเวียงในปัจจุบันหรือสะดือเมืองในอดีตซึ่งมีความสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ เพราะเคยเป็นที่ตั้ง เสาอินทขิล หรือ เสาหลังเมือง ก่อนที่จะย้ายเสาอินทขิลไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง

บริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ หลังเดิมนี้เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัย พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ถึงเจ้าเทพไกรสรพระธิดาซึ่งเสกสมรส กับ เจ้าอินทนนท์ต่อมาเจ้าอินทนนท์ ได้เป็นเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนที่ 7 เมื่อเจ้าอินทวิชยานนท์ถึงแก่พิราลัยจึงตกเป็นมรดกของเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ต่อมาเมื่อทางกรุงเทพฯส่งข้าหลวงมาจัดการปฏิรูปการปกครองตามระบบเทศาภิบาล เจ้าดารารัศมี จึงให้ใช้พื้นที่กลางเวียงแห่งนี้เป็น“ศาลารัฐบาล” หรือ ที่ทำการรัฐบาล ต่อมาเมื่อจังหวัดเชียงใหม่ได้เริ่มใช้ศาลากลางหลังใหม่บนถนนโชตนา เป็นศูนย์ราชการจังหวัด จึงได้ย้ายหน่วยงานต่างๆ ออกไปยังศูนย์ราชการแห่งใหม่ ซึ่งหน่วยงานสุดท้ายได้ย้ายออกไปเมื่อปี พ.ศ. 2539 และทิ้งร้างไว้

โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปใช้ประโยชน์ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2540 ทางเทศบาลเมืองนครเชียงใหม่จึงได้ขอปรับปรุงอาคาร เพื่อใช้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2542 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับอาคารทางด้านหลัง เป็นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม นิทรรศการหมุนเวียน สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆปัจจุบันศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ หรือ อาคารศาลากลางเชียงใหม่หลังเก่าแห่งนี้ ถูกดัดแปลงให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาแห่งอดีตอันรุ่งโรจน์ของอาณาจักรล้านนา หัวเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการค้า การปกครองของภูมิภาคตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เพียงแห่งเดียวที่นำเสนอความเป็นมาของอดีตเมืองเชียงใหม่ได้อย่างครบถ้วน และอาจเรียกได้อีกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไฮเทคที่สุดในบรรดาพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายที่มีอยู่ในประเทศ
ภายในหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ ได้จัดแบ่งพื้นที่อาคารด้านหน้าเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวร ประกอบด้วย 15 ส่วนการแสดงใหญ่ๆ ที่น่าสนใจไว้ดังนี้

ห้องที่ 1. ห้องฉายวีดีทัศน์ เรื่อง“เชียงใหม่วันนี้” เพื่อเกริ่นนำภาพรวมของเชียงใหม่จากอดีตจนถึงปัจจุบัน”
ยอมรับเลยว่าไม่สามารถนั่งชมอยู่ในห้องนี้ได้จนจบ เพราะใจมันอยากจะเข้าไปดูข้างในเสียเต็มแก่แล้ว
ห้องที่ 2. ก่อนจะเป็นเมืองเชียงใหม่ แสดงร่องรอยอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในดินแดนล้านนา
ห้องที่ 3. อารยธรรมสองลุ่มแม่น้ำ กล่าวถึงรัฐในหุบเขาลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำปิง ที่มีอิทธิพลต่อการก่อตั้งเมืองลำดับเหตุการณ์
ห้องที่ 4. สร้างบ้านแปงเมือง แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่1. แสดงคติความเชื่อเรื่องความมีตัวตนของเมือง ส่วนที่2. ชัยภูมิเมืองเชียงใหม่ สื่อถึงแนวความคิดและความเชื่อในเรื่องไชยมังคละ 7 ประการ ของทำเลที่สร้างเมืองใหม่ ส่วนที่ 3.สร้างเมืองเชียงใหม่ แสดงลักษณะเด่นต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ เช่นผังเมืองรูปทรงเลขาคณิต และ ส่วนที่ 4. พิธีกรรมและประเพณีอันเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องความมีตัวตันของเมือง
ห้องที่ 5. ความสัมพันธ์กับภูมิภาค แสดงถึงวัฒนธรรมร่วม อิทธิพลและความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่แบภูมิภาคใกล้เคียง
ห้องที่ 6. ร้อยปีล่วงแล้ว แสดงภาพป่าไม้ หุ่นจำลองการทำป่าไม้ การจำลองอุโมงค์ขุนตาลพร้อมหัวรถจักรรถไฟ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่เมืองเชียงใหม่ ห้องนี้เด็กๆ จะชอบ เพราะหัวรถจักรรถไฟที่จำลองมีเสียง…ปู๊น..ปู๊น..ออกมาได้ด้วย
ห้องที่ 7. สิ่งดีงามของเชียงใหม่ แสดงเอกลัษณ์อันน่าภูมิใจที่ชาวเชียงใหม่ได้รักษาไว้และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ห้องที่ 8. ประวัติอาคาร แสดงความเป็นมาและความสำคัญของพื้นที่ในบริเวณที่ตั้งอาคาร
ห้องที่ 9. เจ้าหลวงเชียงใหม่ กล่าวถึงวัฒนธรรมการปกครองของระบบเจ้าเมืองเชียงใหม่ นับตั้งแต่พญามังรายจนถึงเจ้าครองนครองค์สุดท้าย
ห้องที่ 10. ชีวิตริมฝั่งแม่น้ำปิง จัดแสดงการตั้งถิ่นฐานของพ่อค้าเชื้อสายต่างๆ ริมฝั่งน้ำปิง นอกกำแพงเมือง
ห้องที่11. คนในเวียง แสดงกาดจำลองที่หน้าวัดพระสิงห์ อันเป็นตลาดเก่าแก่และมีความสำคัญในอดีต สวยงามครับสำหรับห้องนี้
ห้องที่ 12. พุทธศาสนากับคนเมือง จำลองวิหารในพุทธศาสนาอันเป็นวิถีชีวิตของชาวเชียงใหม่พร้อมการฉายวีดีทัศน์
ห้องที่ 13. ห้องบายศรีทูลพระขวัญ จำลองพิธีบายศรีทูลพระขวัญซึ่งเป็นประเพณีชาวล้านนาที่ถวายรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานะวงศ์ ตลอดจนพระราชอาคันตุกะ
ห้องที่14. สังคมเกษตรกรรม แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชนในสังคมเกษตรกรรมรอบเมือง
ห้องที่15. คนบนดอย แสดงสภาพภูมิประเทศ วิถีชีวิตของชุมชนบนที่สูง

สำหรับในส่วนของอาคารทางด้านหลัง เป็นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม นิทรรศการหมุนเวียน สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับท่านที่สนใจเที่ยวชม“หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่” เปิดทำการ วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 08.30-17.00 น. ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ( ปิดทำการในวันจันทร์ )

ร่วมแสดงความคิดเห็น