สับสน!ประเพณีปี๋ใหม่เมือง จะได้บุญหรือบาปที่ขัดแย้งกัน ระหว่าง”วันเน่ากับวันพญาวัน”

สับสน!ประเพณีปี๋ใหม่เมือง จะได้บุญหรือบาปที่ขัดแย้งกัน ระหว่าง”วันเน่ากับวันพญาวัน” ส่วนใหญ่ยังยึดถือปฎิบัติตามประเพณีดั้งเดิม

ประเพณีสงกรานต์ ชาวเหนือล้านนาจะเรียกว่า ประเพณีปี๋ใหม่เมือง เทศกาลสงกรานต์ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของชาวล้านนาเดิมนั้น จะถือเอาวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษเป็นวันมหาสงกรานต์ หรือวันสังกรานต์ล่อง (อ่านว่า สังขารล่อง) ซึ่งจะไม่ตรงกับวันที่ 13 เม.ย. ตามประกาศของทางราชการ แต่ปัจจุบันจะยึดตามประกาศของทางราชการ ซึ่งมักจะตรงกับเดือน 7 เหนือ หรือเดือนเม.ย. ประเพณีสงกรานต์จะจัดขึ้นอย่างน้อย 3-5 วัน คือ

วันแรก(13เม.ย.) วันสงกรานต์ล่อง เป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสุดราศีมีน และย่างเข้าสู่ราศีเมษ ชาวล้านนามีความเชื่อว่า ในตอนเช้ามืดจะมีปู่สังกรานต์ หรือย่าสังกรานต์สวมใส่เสื้อผ้าสีแดง ล่องแพไปตามลำน้ำ และปู่สังกรานต์หรือย่าสังกรานต์ จะนำสิ่งชั่วร้ายมาด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไป ชาวบ้านจึงทำการยิงปืน หรือจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายนั้น อีกทั้งชาวบ้านจะปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนให้สะอาด ซักเสื้อผ้าและแต่งกายด้วยเสื้อผ้าตัวใหม่ ส่วนกษัตริย์หรือผู้ครองนครล้านนา จะทำการสรงน้ำตามทิศที่โหรหลวงคำนวณ ไว้และจะลงไปลอยเคราะห์ในแม่น้ำ

วันที่สอง(14เม.ย.) วันเนาหรือวันเน่า สำหรับวันนี้ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า ห้ามผู้ใดทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้ามีการด่ากัน ปากของผู้ด่านั้นจะเน่า สำหรับพิธีกรรมของวันเนานี้ ชาวบ้านจะเตรียมซื้อสิ่งของและอา หาร สำหรับไปทำบุญในวันพญาวัน ส่วนตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด วันเนานี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วันดา”คือวันที่มีการเตรียมสิ่งของเพื่อไปทำบุญ
วันที่สาม(15 เม.ย.)วันพญาวัน เป็นวันเริ่มศักราชใหม่ โดยในตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร อีกทั้งยังมีการทำทานขันข้าว เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว หรือบางคนอาจจะนำอาหารคาวหวาน ไปมอบให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้ที่ตนเคารพ เรียกว่า “ทานขันเข้าคนเฒ่าคนแก่”
ทางด้าน สภาวัฒนธรรมเชียงใหม่ได้มีการกำหนดวันปี๋ใหม่เมือง ตามการเคลื่อนของดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษ โดยในวันแรก เรียกว่า วันสังขานต์ล่อง และวันที่ 2 เรียกว่า วันเนาว์ หรือ วันเน่า ส่วนในวันที่ 3 เรียกว่า วันพญาวัน หรือ วันเถลิงศก ซึ่งวันดังกล่าวได้เคลื่อนไปตรงกับวันที่ 14- 15 และ 16 เมษายน มาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 แล้ว แต่ทางราชการยังกำหนด วันหยุดราชการตายตัวเหมือนเดิม ทำให้การปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ตามประเพณีขึ้นปีใหม่ไทยผิดแผกไม่เป็นการถูกต้อง และยังใช้ความเคยชินกับวันแบบเดิม แทนที่จะไปวัดวันพญาวัน แต่กลับไปวัดวันเน่า จึงถือว่าไม่เป็นมงคลต่อตนเอง และบ้านเมือง
ดังนั้นสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้รณรงค์เปลี่ยนแปลงประเพณีปี๋ใหม่เมือง และนำเสนอให้ทางราชการกำหนดวันดังกล่าวให้ถูกต้อง เพื่อประชาชนจะได้ปฏิบัติกิจกรรม ตามจารีตประเพณี ตั้งแต่การปัดกวาดบ้านเรือน ขนทรายเข้าวัด ทำบุญวันพญาวัน และวันสระเกล้า-ดำหัว เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว
ที่ผ่านมาแต่ละวัดได้ปฎิบัติตาม สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็ยังมีอีกหลายจังหวัด หลายวัดรวมถึงประชาชน ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยังยึดถือเอาประเพณีดั้งเดิมโดยเฉพาะ”วันเน่ากับวันพญาวัน” ต่างก็สับสนกันว่าการทำบุญปี๋ใหม่เมืองปีนี้ จะเป็นมงคลต่อตนเอง และครอบครัวหรือไม่
เสน่ห์ นามจันทร์/รายงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น