ประเพณีสงกรานต์เมืองเชียงใหม่ในอดีต

ประเพณีปีใหม่เมืองล้านนา หรือ เทศกาลสงกรานต์ของคนภาคเหนือนั้นดูเหมือนจะมีช่วงเวลาเฉลิมฉลองที่ยาวนานกว่าประเพณีสงกรานต์ในภาคอื่น ๆ อาจเป็นเพราะทางภาคเหนือมีความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำพิธีในวันสงกรานต์มากมาย อาทิ วันสังขารล่อง วันเน่า วันพญาวัน วันปากปี วันปากเดือน วันปากวัน ฯลฯ ซึ่งในแต่ละวันก็จะมีพิธีแยกย่อยกันออกไปอีก
เทศกาลสงกรานต์ของไทยเราในแต่ละภาคก็คงจะมีบรรยากาศของความสนุกสนานสดชื่นไม่แพ้กัน แต่ที่
จังหวัดเชียงใหม่นั้นได้ชื่อว่า เป็นจังหวัดเดียวที่จัดงานประเพณีสงกรานต์ได้อย่างยิ่งใหญ่ สามารถดึงดูดผู้คนและนักท่องเที่ยวจากไทยและต่างประเทศให้เข้ามาเยือนปีละหลายหมื่นคน เมื่อเวลาเราไปเที่ยวงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่จะพบเห็นภาพของผู้คนกำลังสนุกสนานอยู่กับการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ เสียงของเครื่องดนตรีกระหึ่มดังกึกก้อง รถราบนท้องถนนรอบคูเมืองขยับเคลื่อนไปทีละน้อย ลูกเล็กเด็กแดงรวมถึงชาวต่างชาติแต่งกายด้วยเสื้อหม้อฮ้อมคล้องคอด้วยพวงดอกมะลิ ใบหน้าแต่ละคนถูกประพรมด้วยแป้ง ภาพเหล่านี้เป็นสีสันที่อยู่ในงานเทศกาลปี๋ใหม่เมือง หรือ เทศกาลสงกรานต์ของเมืองเชียงใหม่ที่จะยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนต่างถิ่นอยู่มิรู้คลาย
เทศกาลสงกรานต์ของเมืองเชียงใหม่ได้ชื่อว่า เป็นเทศกาลที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจต่างเฝ้ารออยากให้มาถึงเร็ว ๆ ทุกปีเมื่อถึงช่วงเวลานี้ถนนรอบคูเมืองจะคราคร่ำไปด้วยทั้งรถทั้งคนสนุกสนานเฮฮาอย่างไม่รู้ร้อน ภาพและ ความรู้สึกต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยวที่เคยมาเยือนเหล่านี้ปรากฏออกไปยังทั่วประเทศจนชื่อเสียงของงานสงกรานต์เชียงใหม่เป็นที่ใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวจะต้องหาโอกาสเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศเช่นนี้ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิตงานประเพณีปี๋ใหม่เมือง

ถือได้ว่าเป็นประเพณีโบราณของคนภาคเหนือ ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของคนล้านนาถือเอาวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็น “วันสงกรานต์ล่อง” หรือ “วันสังขารล่อง” หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็น “วันมหาสงกรานต์” ซึ่งอาจจะไม่ตรงตามประกาศของทางราชการเสมอไป ตามความเชื่อของคนล้านนาในปีนี้ถือเอาวันที่ 13 เมษายนเป็นวันสงกรานต์ กล่าวกันว่าก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 12 เมษายนย่างวันที่ 13 จะเป็นวันสงกรานต์ล่องหรือสังขารล่อง ปู่สงกรานต์หรือย่าสงกรานต์จะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีแดงสยายผมล่องแพไปตามลำน้ำ ปู่หรือย่าสงกรานต์นี้จะนำสิ่งไม่ดีทั้งหลายตามตัวมาด้วย จึงต้องมีการยิงปืนจุดประทัดหรือทำให้เกิดเสียงดังซึ่งถือเป็นการไล่สงกรานต์และชาวบ้านยังถือกันว่า ปืนที่ใช้ยิงไล่ในวันสงกรานต์แล้วจะมีความขลังมาก

ปัจจุบันประเพณีการรดน้ำดำหัวของคนล้านนาได้รับเอาวัฒนธรรมจากภาคกลางมาใช้ มีการใช้น้ำอบน้ำหอม แทนน้ำขมิ้นส้มป่อย จึงทำให้รูปแบบการรดน้ำดำหัวของล้านนาเปลี่ยนแปลงไป ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์ นักปราชญ์ชาวล้านนาได้กล่าวถึงประเพณีการรดน้ำในเทศกาลวันสงกรานต์ของเชียงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิถี ประเพณีดั้งเดิมว่า “การเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์เปลี่ยนแปลงไปมาก วัฒนธรรมประเพณีเก่า ๆ หายไปหมด ทุกวันนี้มีแต่กลุ่มวัยรุ่นนั่งหลังรถกระบะขับไปรอบเมือง มีการสาดน้ำกันอย่างรุนแรง ไม่สุภาพ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ประเพณีของชาวล้านนา”
เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ทีไร จะมีแฟชั่นต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งการแต่งกายของวัยรุ่นหญิงสาวที่นิยมนุ่งน้อยห่มน้อยใส่เสื้อสายเดี่ยว-เตี่ยวขาสั้น บางคนใส่เสื้อบาง ๆ มาเล่นน้ำ ผ้าที่ว่าบางอยู่แล้วเมื่อเวลาโดนน้ำแทบจะมองทะลุเห็นตับไตไส้พุง ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าอากาศที่แสนจะร้อนนั้นทำให้คนต้องแต่งตัวเข้ากับฤดูกาล แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและสถานการณ์ด้วย การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าบาง ๆ มาเล่นน้ำในที่สาธารณะอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาทีหลังก็คือ เป็นโอกาสให้กลุ่มวัยรุ่นมีโอกาสลวนลามได้ง่าย เห็นแบบนี้แล้วทำให้อดนึกถึงภาพบรรยากาศเก่า ๆ ของเทศกาลสงกรานต์สมัยเมื่อปู่ย่าตายาย ที่หนุ่มสาวสมัยนั้นออกมาเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้ที่มีอายุน้อยกว่าเวลาจะเข้าไปรดน้ำผู้ใหญ่ก็จะมีการขอสูมาลาโทษ การรดน้ำก็จะนิยมนำน้ำใส่ขันมารดที่ไหล่หรือมือ อันเป็นแบบแผนประเพณีที่ดีงามซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีหลงเหลือให้เห็นอีกแล้ว
ประเพณีการรดน้ำของคนเชียงใหม่ในอดีต เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่เมืองจะตรงกับเดือนเมษายนซึ่งเป็นฤดูร้อนในช่วงนี้เองแม่น้ำปิงจะแห้งเหลือแต่ดอนทรายกลางน้ำ ในภาพจะเห็นฝูงคนพากันลงเล่นน้ำปิงบริเวณใต้สะพานนวรัฐชาวเชียงใหม่เรียกว่า “ขัวเหล็ก” ส่วนอีกภาพเป็นการเล่นน้ำปีใหม่บริเวณเชิงสะพานนวรัฐฝั่งทิศตะวันตกบริเวณแยกพุทธสถาน
สังเกตุในภาพจะเห็นคนถือสลุงเงินใส่น้ำเดินรดน้ำให้กับผู้คนที่มาเที่ยว นับเป็นขนบประเพณีเล่นน้ำใน
เทศกาลสงกรานต์หรืองานประเพณีปีใหม่เมืองของคนเชียงใหม่ที่ไม่สามารถพบได้ในปัจจุบันแล้วอย่างไรก็ตามแม้ว่าประเพณีการเล่นน้ำสงกรานต์ของล้านนาจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร อย่างน้อยก็ยังมีด้านดีไว้ให้ได้ซึมซับถ่ายทอดเป็นมรดกที่ดีงามให้ลูกหลานได้ถือปฏิบัติกันอยู่บ้าง การจะเล่นน้ำสงกรานต์อย่างไร แบบไหนก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญานของแต่ละท่าน อย่างน้อยก็อย่าให้กระแสวัฒนธรรมจากข้างนอกเข้ามากลืนกระแสวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ดีงามของล้านนาก็แล้วกัน
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น