ปีนี้ไม่มีแล้ง!!…ผลจากพายุฤดูร้อน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น

ผลพวงจากพายุฤดูร้อน ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ ทั่วประเทศรวมกว่า 460 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลดีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดผลกระทบ จากภัยแล้งในพื้นที่นอกเขตชลประทาน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ปัจจุบัน(18 เม.ย.61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 48,557 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2560 รวม 6,247 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 24,671 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 47 (ปี 2560 มีน้ำใช้การได้ 18,476 ล้าน ลบ.ม.)
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561(ระหว่าง 1 พ.ย. 60 –30 เม.ย. 61) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำ ในเขตชลประทานทั่วประเทศ คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ รวมกันทั้งสิ้น 25,067 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นการใช้น้ำเพื่อการเกษตร 15,952 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,167 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 6,948 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 16,797 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้สนับสนุนการใช้น้ำ ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2561 ปัจจุบัน(18 เม.ย.61) ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 23,009 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 92 ของแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง คงเหลือปริมาณน้ำใช้การ ได้ถึงสิ้นเดือน เม.ย.61 ประมาณ 2,058 ล้าน ลบ.ม. เป็นไปตามแผนที่วางไว้
สำหรับผลการเพาะปลูกพืช ฤดูแล้งทั้งประเทศ ณ 11 เม.ย.61 มีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.23 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 113 ของแผนฯ(แผน 9.05 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 9.60 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 115 ของแผนฯ(แผน 8.35 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวแล้ว 3,900,534 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 41 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง
อนึ่ง ผลพวงจากการเกิดพายุฤดูร้อน บริเวณประเทศไทยตอนบน ทั้ง 4 ช่วง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้น สรุปได้ดังนี้ ช่วงที่ 1 (5 – 11 มี.ค.61) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวม 139 ล้าน ลบ.ม. ช่วงที่ 2 (18 – 24 มี.ค.61) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวม 142 ล้าน ลบ.ม. ช่วงที่ 3 (5 – 7 เม.ย.61) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวม 94 ล้าน ลบ.ม. และช่วงที่ 4 (15 – 18 เม.ย.61) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวม 87 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 ช่วงทั้งสิ้น 462 ล้าน ลบ.ม. นอกจากจะส่งผลดี มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ให้กับพื้นที่การเกษตร และเป็นผลดีต่อการบริหารจัดการน้ำ ในช่วงฤดูแล้ง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำรอง ไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 61 ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น