เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ-จราจรลำปาง 80 นาย ติดกล้องบนหมวกเพิ่มการทำงานที่รัดกุม

เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ-จราจรลำปาง 80 นาย ติดกล้องบนหมวกเพิ่มการทำงานที่รัดกุม รอง ผกก.ยันไม่เน้นจับผิดประชาชน แต่ช่วยเหลือด้านการทำงาน ลดคำครหาในการปฏิบัติหน้าที่ และเก็บหลักฐานชัดเจน
หลังจากที่มีการนำเสนอ ข่าวสารผ่านสื่อต่างๆหลายครั้ง กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ตำรวจโดยการใช้กล้องติดหมวก และกล้องติดรถยนต์ให้เกิดประโยชน์ ในการติดตามคนร้าย รวมไปถึงการเก็บบัน ทึกภาพสำคัญ ขณะเกิดเหตุการณ์ต่างๆ และขณะปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้มีการขยายการติดตั้งกล้องบนหมวกประจำตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มขึ้นไปทั่วประ เทศ โดยที่ จ.ลำปาง ได้มีการติดตั้งกล้องบนหมวกจราจรด้วยเช่นกัน ซึ่งได้เริ่มใช้งานเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา
พ.ต.ท.สราวุธ วะเท รอง ผกก.จร.สภ.เมืองลำปาง เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติและตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง เห็นถึงความปลอดภัยเรื่อง การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และเรื่องการตรวจสถานที่เกิดเหตุ เก็บข้อมูลพยานหลักฐานทางภาพถ่าย วีดีโอ และเสียง เพื่อประกอบการดำเนินคดีต่างๆ จึงได้มีนโยบายให้ จนท.ตำรวจ ทำการติดตั้งกล้องบนหมวกประจำตัว เพื่อเป็นการช่วยเหลือในการเก็บพยานหลักฐานหากเกิดเหตุการณ์ต่างๆได้ อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นอุปกรณ์ ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อตรวจสอบว่าปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
รอง ผกก.จร. กล่าวต่อว่า ตอนนี้มีกล้องใช้ในส่วนของงานสายตรวจและจราจร ทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามจะมีกล้องติดทุกนาย แยกเป็นจราจร 40 นาย สายตรวจ 40 นาย รวมไปถึงรถยนต์สายตรวจที่คอยขับตรวจตราดูแลความเรียบร้อยต่างๆ ก็จะต้องมีการติดตั้งกล้องหน้ารถด้วยเช่นกัน ซึ่งกล้องติดหมวกที่ สภ.เมืองลำปางจะมีอยู่ 100 กว่าตัว แต่ใช้จริง 80 ตัว ตามจำนวนของเจ้าหน้าที่ โดยมีไว้เพื่อเป็นการสับเปลี่ยน หากเกิดการชำรุดเสียหาย
โดยกล้องติดหมวกจะมี 2 รูปแบบ คือ กล้องด้านหน้า ติดตั้งแบตเตอรี่สำรอง มีจอภาพ บันทึกเสียงได้ สามารถเปิดดูภาพได้เลยทันที แบบที่สองจะเป็นกล้องที่ติดด้านบนหมวก บันทึกภาพและเสียงได้เช่นกัน จะสามารถบันทึกภาพต่อเนื่องได้นาน 4 ชั่วโมง เมื่อเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติหน้าที่ ก็จะต้องเปิดกล้องให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการติดตั้งกล้องเหล่านี้ เป็นผลดีในเรื่องของการไประงับเหตุ เรื่องการโต้แย้งก็จะลดลง เพราะมีการบันทึกภาพไว้ตลอด ในส่วนของจราจรก็เป็นการลดข้อพิพาทระหว่างตำรวจกับประชาชน และควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ให้ทำผิดระเบียบกฎหมาย หรือทำเกินกว่าเหตุได้ เชื่อว่าประชาชนก็อุ่นใจขึ้นว่าเจ้าหน้าที่ ต้องทำตามระเบียบเพราะมีการบันทึกภาพไว้ ประชาชนเองก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ด้วยเช่นกัน พ.ต.ท.สราวุธ กล่าว.

ร่วมแสดงความคิดเห็น