(คลิป) “ต๋าแหลว” คืออะไร? สำคัญไฉนในถิ่นล้านนา

…ต๋าแหลว หมายถึงดวงตาของนกเหยี่ยวที่ชอบโฉบเฉี่ยวหรืองับเอาลูกเจี๊ยบไก่ไปกิน เชื่อกันว่าดวงตาของเหยี่ยวหรือนกแหลวนี้มีแววตาสามารถมองเห็นได้ไกลๆ เช่นเวลามันบินร่อนไปมาบนท้องฟ้า กางปีกอ้าถลาเล่นลมอย่างสบายใจ แต่ดวงตามันสอดส่องดูมาเบื้องล่าง เพื่อหาเหยื่อที่จะเอาไปเลี้ยงชีวิตมัน ยังชีพให้อยู่รอด…พอเห็นเหยื่อมันจะรีบดิ่งหัวโฉบลงมาเอาเหยื่อทันที..ฉับ..งาบติดปากเสยหัวบินกลับขึ้นไปบนท้องฟ้า

ด้วยความเฉียบคมของแววตานกแหลวหรือเหยี่ยว จากความเชื่อและกุศโลบายผู้คนล้านนาจึงคิดสร้างต๋าแหลวไม้ขึ้นมาเพื่อให้ต๋าแหลวไม้สอดส่องดูแลสิ่งอาถรรพ์ เสนียดจัญไร มิให้เข้ามากรายใกล้ โดยการนำไม้ไผ่มาจักตอกขนาดตามที่ต้องการ แล้วเลาะเหลาปาดเอาคมผิวไม้ออกให้หมด หลังจากนั้นจึงนำเส้นตอกมาสานเป็นวงกลมหักทบปลายเส้นตอกให้สานกัน แล้วปล่อยปลายเส้นตอกคลี่ออกไปคล้ายลำแสงพุ่งออกจากศูนย์กลางหรือดวงตาของแหลวหรือตาเหยี่ยวนกเขา…ทางภาคกลางเรียกกันว่า “เฉลว”

เมื่อสานเสร็จนำต๋าแหลวไปปักไว้ตามที่ต้องการป้องกันเภทภัย เสนียดจัญไร ขึด อาถรรพ์ เช่น ไปปักไว้ตามประตูบ้าน ตามบริเวณที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ บางครั้งหากเป็นงานใหญ่ๆ ผู้คนจะสานต๋าแหลวเจ็ดชั้น เพื่อให้มีความต้านทานป้องกันหนาแน่นยิ่งกว่าต๋าแหลวธรรมดาทั่วไป

ปัจจุบันการสานต๋าแหลวยังคงมีอยู่ทั่วไปตามบ้านเรือน ผู้คนชนบทที่ยังคงนับถือต๋าแหลวในงานพิธีต่างๆไม่ว่างานมงคล งานอวมงคล แม้แต่งานของวัดบางแห่งก็ต้องสานต๋าแหลวไว้เช่นกัน

หากต้องการเห็นของจริงก็ลองไปเที่ยวตามหมู่บ้าน ตามวัดชนบทกันเถอะครับหากเห็นไม้เส้นตอกสานข้างในเป็นวงกลม แล้วปลายซี่ไม้ตอกแผ่ออกไปดั่งลำแสงตะวันนั่นแหละต๋าแหลว เพื่อสะท้อนถึงความเชื่อที่มีมาสมัยโบราณกาล โดยที่วัดอัมพวัน(ป่าม่วง) ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พระสมุห์ธีรศักดิ์ อริยวํโส นำพระสงฆ์ ชาวบ้านได้ช่วยกันทำต๋าแหลวขนาดใหญ่เพื่อเตรียมไว้ใช้พันรอบองค์พระธาตุเจดีย์ทองมงคลคีรีสหรี๋อัมพวัน ซึ่งเป็นงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุประจำปี 2561 ในวันที่ 29 เม.ย.2561 นี้ หากอยากเห็นว่าต๋าแหลวรูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไรไปดูกันได้ไม่ขัดศรัทธา

ร่วมแสดงความคิดเห็น