กาแฟอาราบิก้าบ้านป๊อกขึ้นชื่อ โครงการหลวงตีนตก

สุดเจ๋ง!กาแฟอาราบิก้าบ้านป๊อก-แม่กำปองขึ้นชื่อ โครงการหลวงตีนตกฯหนุนเกษตรกรปลูกครบวงจร มช.เล็งใช้พื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ทดลองและวิจัย เพราะเป็นพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร เหมาะแก่การเพาะปลูกกาแฟชั้นเยี่ยม
นางจุรี อินจันทร์ อายุ 54 ปีเจ้าของร้านกาแฟตำนานแม่ป๊อก หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ได้เล่าถึงความเป็นมาก่อนที่จะเป็น”กาแฟแม่ป๊อก”ที่ขึ้นชื่อว่าตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่สืบทอดกันมาเป็นรุ่นๆในอดีตนั้นพื้นที่ของ ต.ห้วยแก้ว แต่เดิมขึ้นกับ อ.สันกำแพง ปัจจุบันขึ้นอยู่กับ อ.แม่ออน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกฝิ่น เพราะพื้นที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี ต่อมาได้เลิกปลูกฝิ่นหันมาทำสวนเมี่ยง
เมื่อช่วงปี 2527 ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน เป็นอีกหนึ่งศูนย์ฯ ที่เกิดจากน้ำพระทัยและ พระวิสัยทัศน์ อันกว้างไกลของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ประมาณ 300,000 บาท สำหรับ ก่อสร้างศูนย์พัฒนาโครงการ หลวงตีนตก เพื่อเป็นแหล่งพัฒนา สาธิต และส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม และกาแฟให้เป็นอาชีพเสริมให้แก่ ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยงโดยมี วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรมีรายได้เสริมนอกจากการปลูกเมี่ยง พัฒนาปัจจัยพื้นฐาน และคุณภาพชีวิตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความเป็น อยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังสนับสนุนงานทดลอง สาธิต และวิจัยรวมทั้งอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย โดยศูนย์ฯแห่งนี้ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 700-1,200 เมตร เป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน
ในส่วนของการปลูกกาแฟช่วงแรกๆมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกให้ความรู้ทางด้านวิชาการ ชาวบ้านเริ่มมีการปลูกกาแฟทดลองเองทั้งหมด 5 สายพันธุ์ ผสมผสานไปกับการทำสวนเมี่ยง ในที่สุดได้สรุปเหลือเพียงสายพันธุ์เดียวคือ”อาราบิก้า” มีการปลูกอยู่ 4หมู่บ้านได้แก่ บ้านธารทอง,แม่กำปอง,แม่ลายและบ้านป๊อก
สำหรับสวนกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่บ้านป๊อก ครบวงจรตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิต มีร้านวิสาหกิจชุมชนบ้านป๊อก มีโรงคั่ว-โรงอบ อย่างครบวงจร และมีสถานท่องเที่ยวชื่อดัง เช่น เดอะไจแอนท์ ร้านกาแฟบนต้นไม้ ,ร้านเครื่องเล่น ลูจ(Luge)เชียงใหม่ ทางยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นต้น ใช้กาแฟอาราบิก้าบ้านป๊อก จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว เพราะเป็นกาแฟที่มีรสชาติอร่อยอีกแห่งหนึ่ง
นางจุรี อินจันทร์ เผยอีกว่านอกจากจะทำสวนกาแฟอาราบิก้า จำนวน 16 ไร่แล้ว ยังเปิดร้านกาแฟตำนานบ้านป๊อก บริการแก่นักท่องเที่ยว และล่าสุด ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนจก และนักวิชาการฯ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความสนใจส่งเสริมการปลูกกาแฟในสวนของตน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ สาธิต ทดลอง พัฒนาสายพันธุ์ให้กับนักศึกษาและเกษตรกรทั่วไปด้วย
เสน่ห์ นามจันทร์/รายงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น