ชีวิตนี้ต้องไปสักครั้ง สักการะรอยพระพุทธบาท

เมื่อนึกถึง อ.แม่ริม สิ่งหนึ่งที่ชาวแม่ริมให้ความเคารพ และ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะศาสนสถานที่สำคัญทางด้านพุทธศาสนา ที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน ซึ่งผู้คนต่างกล่าวขานว่า”ชีวิตนี้สักครั้งต้องไปเยือน” ด้วยความเคารพจากสาธุชน ทำให้สถานที่แห่งนี้คือศาสนสถานที่สำคัญและนี่คือแห่งท่องเที่ยวทางพุทธศาสนา ที่เหมาะสมกับการเป็นแห่งท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวทั่วประเทศต่างอยากมาเยือน “วัดพระพุทธบาทสี่รอย”
วัดพระพุทธบาทสี่รอย ตั้งอยู่ในป่าที่ล้อมรอบไปด้วยหุบเขาซึ่งเป็นที่ประดิษ ฐานรอยพระพุทธบาท ของสมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าถึง 4 พระองค์มาประทับไว้ โดยแต่ละพระองค์ก็จะมี ขนาดของรอยประทับแตกต่างกันไปมีประวัติความเป็นมาว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าในศาสนาปัจจุบันได้เสด็จจารึกประกาศธรรม มายังปัจจันตะประเทศ (หรือประเทศไทยในปัจจุบัน) จนกระทั่งมาถึงเทือกเขาทางตอนเหนือ ของประเทศ ชื่อว่า “เขาเวภารบรร พต”
ซึ่งพระองค์ได้เสด็จมาพร้อมกับสาวก 500 องค์ และได้แวะฉันจังหันอยู่บนเขาแห่งนี้ เมื่อฉันเสร็จพระองค์ก็ทราบได้ด้วยญาณสมาบัติว่า เทือกเขาแห่งนี้ได้มีมีรอยพระบาทของ พระพุทธเจ้ามาประทับอยู่ที่ก้อนหินก้อนใหญ่ คือพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ภัทรกัลป์นี้ แล้วพระองค์ก็ทรงเล็งดูรอยพระพุทธบาทแห่งพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ คือพระเจ้ากุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ พุทธสาวกทั้งหลาย มีพระสารีบุตรเป็นประธานทูลถามว่า พระพุทธองค์เล็งดูด้วยเหตุใด พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า พระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ที่ล่วงมาแล้วในอดีตกาล ก็มาประทับไว้ที่นี้ทุกพระองค์ แม้พระศรีอริยเมตไตร ก็จักมาประทับรอบพระบาทได้ไว้ที่นี้ และจักประทับรอยพระบาทสี่รอยนี้เป็นรอยเดียวกัน
เมื่อพระองค์ตรัสเสร็จก็เสด็จไป ประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์นั้น แล้วทรงอธิฐานว่า “เมื่อเรานิพพานไปแล้ว เทวดาจักนำเอาพระธาตุของเรา มาบรรจุไว้ที่รอยพระพุทธบาทที่นี้ เมื่อตถาคตเสด็จนิพพานไปแล้ว 2000 ปี พระพุทธบาทสี่รอยนี้จักปรากฏแก่ปวงคนและเทวดาทั้งหลาย เมื่อพระองค์เสด็จไปเชตวันอาราม อันมีเมืองสาวัตถี นั้นแล เมื่อพระองค์เสด็จนิพพาน เทวดาทั้งหลายก็นำเอาพระธาตุมาบรรจุไว้ที่พระพุทธบาทสี่รอย เมื่อเวลาล่วงเลยมา 2000 วัสสา เทวดาทั้งหลายต้องการให้พระพุทธบาทสี่รอยปรากฏ แก่คนทั้งหลายได้สักการะบูชา จึงได้เนรมิตเป็นรุ้งตัวใหญ่ (เหยี่ยว) บินลงจากภูเขาภารบรรพต เพื่อไปเอาลูกไก่ของชาวบ้าน แล้วบินกลับไปบนภูเขา ชาวบ้านจึงตามขึ้นไปเพื่อจะยิงเหยี่ยวตัวนั้น แต่ไม่พบ กลับพบแต่รอยพระพุทธบาทสี่รอยอันอยู่พื้นต้นไม้และเถา วัลย์ จึงได้ทำการสักการะบูชาเสร็จแล้วก็ลงจากภูเขา เมื่อมาถึงหมู่บ้านก็เล่าให้เพื่อนบ้านฟัง ชาวบ้านจึงไปกันไปกราบสักการะบูชามาก แต่นั้นมาจึงได้ชื่อว่า “พระบาทรังรุ้ง” (รังเหยี่ยว)
ในสมัยนั้นมีพระยาเม็งราย เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจึงมีพระราช ศรัทธาอยากเสด็จขึ้นไปกราบบูชา พระพุทธบาทสี่รอยก็นําเอาราชเทวี และเสนาพร้อมกับบริวารทั้งหลาย เมื่อพระยาเม็งรายกราบนมัสการเสร็จแล้ว ก็นําเอาบริวารของตนกลับมาสู้ เมืองเชียงใหม่ ก็ตั้งอยู่เสวยราชมบัติตราบเมี้ยนอายุขัยแล้ว ก็เจริญตามรอยและได้ขึ้นมากราบพระพุทธบาททั้งสี่รอย ทุกๆพระองค์ หลังจากนั้นมาพระบาทรังรุ้ง หรือรังเหยี่ยวก็เปลี่ยนชื่อเป็น” พระพุทธบาทสี่รอย ” เพราะมีรอยพระพุทธบาทประทับซ้อนกันถึงสี่รอย คือมีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ทั้งสี่พระองค์ที่ล่วงลับมาแล้วในภัทรกัลป์นี้ คือ รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ รอยแรกเป็นรอย ใหญ่ยาว 12 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เป็นรอยที่ 2 ยาว 9 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากัสสปะเป็นรอยที่ 3 ยาว 7 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตะมะ ( ศาสนาปัจจุบัน ) เป็นรอยที่ 4 รอยเล็กที่สุด ยาว 4 ศอก เมื่อมาถึงสมัยพระยาธรรมช้างเผือกผู้ครองนคร เชียงใหม่ พร้อมด้วยบริวาร 500 คนก็ขึ้นไปกราบสักการะบูชาพระพุทธบาทสี่รอย และได้สร้างวิหารครอบพระพุทธบาทสี่รอยไว้ชั่วคราว โดยแต่เดิมถ้า ใครจะดูรอยพระพุทธบาทบนยอดหินก้อนใหญ่ ต้องใช้บันไดพาดขึ้นไปหรือปีนขึ้นไปดูซึ่งก็คงจะขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ดังนั้น พระยาธรรมช้างเผือก จึงตรัสสร้างแท่นยืนคล้ายๆนั่งร้านรอบๆก้อนหินที่มีพระ พุทธบาทสี่รอยและได้สร้างหลังคาชั่วคราวมุงไว้ ต่อมาในสมัยพระชายาเจ้าดารารัศมีก็ได้ขึ้นไป กราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย และได้มีพระราชศรัทธา ก่อ สร้างวิหารเป็นการกราบบูชารอย พระพุทธบาทไว้หนึ่งหลัง หลังเล็กปัจจุบันได้บูรณะปฏิสัง ขรณ์แล้วทั้งหลัง พอมาสมัยเมื่อปี พ.ศ. 2472 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ก็ได้ขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย และได้รื้อพระวิหารที่เจ้า พระยาธรรมช้างเผือกสร้างไว้ชั่วคราว และได้สรางพระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทไว้ใหม่ และได้ฉาบปูนครอบรอยพระพุทธบาทสี่รอย พระพุทธบาทสี่รอยนี้เป็นพระพุทธบาท ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

การเดินทางไปยังวัดพระพุทธบาทสี่รอยนั้นสามารถใช้เส้นทางในการเดินทางได้ 2 เส้นทาง เส้นทางที่ 1 เข้าทาง อบต.ริมเหนือ ปากทางเข้านี้ห่างจากที่ว่าการ อ.แม่ริมเพียง 2 กม.และทางเข้าที่ 2 สามารถเข้าได้ทางสามแยก ปากทางสะลวงห่างจากที่ว่าการ อ.แม่ริม 8 กม. ถ้าไม่ชำนาญเส้นทางก็สามารถสอบถามชาวบ้านในแถบนั้นได้ เส้นทางในการเดินทางขึ้นไปยังวัดพระบาท 4 รอยนั้นเป็นภูเขาลาดชัน บางแห่งมีโค้ง และสูงในระดับ 45 องศา เลยทีเดียวซึ่งทั้งเส้นทางราดด้วยคอนกรีต ซึ่งทำให้รถขนาด ต่างๆ เดินทางเข้าไปได้
เนื่องจากวัดอยู่ทามกลางหุบเขาจึงทำให้อากาศนั้นเย็น ในฤดูหนาวช่วงกลางวันมีอุณหภูมิลดต่ำถึง 5 องศา

สถานที่สำคัญที่นอกจากจะมีรอยพระพุทธบาท ก็ยังมีพระอุโบสถทรงจตุรมุข หรือโบสถ์นาคอันงามสง่า และโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ซึ่งกล่าวขาลกันว่า พระอุโบสถนาคหลังงามตระการตานี้ ท่านเจ้าอาวาสได้รับแรงบันดาลใจจากนิมิต ที่พญานาคได้มาบอกกล่าวให้สร้าง และขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน ปิดทองฝังลูกนิมิต นอกจากนั้นยังมีองค์ปู่ฤาษีนารอด ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านขวาของทางขึ้นพระวิหาร ครอบพระพุทธบาทสี่รอย และก่อนจะเดินเข้าไปสักการะพระพุทธบาท สี่รอย ยังมีพระรูปของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ภายในพระวิหารที่ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยว และผู้แสวงบุญเดินทางมายังวัด มากกว่า 200 คนซึ่งทุกคนที่ได้เดินทางมายัง วัดพระพุทธบาทสี่รอยต่างมีความคิดเดียวกันนั้นคือ “ชีวิตนี้สักครั้งต้องไปเยือนอีก”
ข้อมูลสถานที่

สถานที่ตั้ง : วัดพระพุทธบาทสี่รอย ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทสี่รอย : พระครูพุทธบาทเจติยารักษ์ (พระครูบาพรชัย ปิยะวัณโณ)
ความสูงจากระดับน้ำทะเล : 1,200 เมตร
ศาสนสถานที่สำคัญ : องค์ปู่ฤาษีนารอด , พระวิหารครอบพระพุทธบาทสี่รอย พระวิหารหอเทวดา พระเจดีย์ศรีวิชัย ,อนุสาวรีย์พระรูปของครูบาศรีวิชัย
.

ร่วมแสดงความคิดเห็น