สะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย

สะพานข้ามลำน้ำปายโครงเหล็กสีเขียวเข้ม เชื่อมถนนจากเชียงใหม่เข้าสู่ อ.ปาย แม่ฮ่องสอน สะพานประวัติศาสตร์ที่ได้ทิ้งเรื่องราวร่องรอยจากในอดีตผ่านช่วงเวลา ให้เราได้ค้นหา สะพานประวัติศาสตร์ เปรียบเสมือนเป็นประตูเดินทางเข้าสู่ อ.ปาย เมื่อขับรถมาจากถนนทางหลวง 1095 (แม่มาลัย-ปาย) บริเวณหลัก กม.ที่ 88 เราจะเห็นสะพานสีเขียวเข้ม ทอดข้ามลำน้ำปายได้อย่างชัดเจน เมื่อเราก้าวเดินบนสะพาน พื้นไม้หนาวางเรียงต่อกัน บ้างก็ชำรุดไปด้วยตามกาลเวลา เราลองย้อนเวลากลับไปในช่วง ปี พ.ศ. 2482 เกิดความขัดแย้งยิ่งใหญ่ขึ้นขึ้นในวงกว้าง ครอบคลุมเกือบทุกประเทศ และทุกทวีปจนเกิดเป็นมหาสงครามโลก ครั้งที่ 2
ประเทศญี่ปุ่นประกาศสงคราม กับฝ่ายพันธมิตร และได้เคลื่อนกำลังพลเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อลำเลียงเสบียงอาหารและยุทโธปกรณ์ต่างๆ โดยผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเข้าโจมตีประเทศพม่า ( เมืองขึ้นของประเทศอังกฤษในขณะนั้น ) แต่ด้วยการเดินทัพอันยากลำบาก บนเส้นทางที่เป็นหุบเขา และมีลำน้ำปายขวางกั้น กองทหารญี่ปุ่นจึงได้เกณฑ์ชาวไทยจากหมู่บ้านต่างๆ ให้ขุดถางเส้นทางจาก จ.เชียงใหม่ ไปยัง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีค่าจ้างแรงงานต่อคนวันละ 50 สตางค์ 1.50 บาท
ในขณะเดียวกันชาวบ้านอีกฝั่งจากทาง จ.แม่ฮ่องสอน ก็ถูกเกณฑ์ว่าจ้างให้ขุดถากถางเส้นทางมุ่งหน้าไปยัง จ.เชียงใหม่ โดยทั้งสองทางต่างมาบรรจบกันที่ฝั่งแม่น้ำ บริเวณบ้านท่าปาย อ.ปาย แล้วจึงร่วมแรงกันใช้ช้างลากไม้ใหญ่หน้า 30 นิ้ว ออกจากป่า ตั้งเป็นเสาสร้างขึ้นเป็นสะพาน บรรจบทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันเหนือแม่น้ำปาย กลายเป็นเส้นทางและสะพานแห่งประวัติศาสตร์สงคราม
สงครามโลกได้สิ้นสุดลง กองทหารญี่ปุ่นได้ถอยทัพกลับ แล้วทำการเผาสะพานไม้ทิ้ง ส่งผลให้ชาวเมืองปาย ซึ่งเคยใช้สะพานร่วมกับทหารญี่ปุ่น ต่างเกิดความไม่สะดวกที่ต้องกลับไปใช้วิธีโดยสารทางเรือ ซึ่งขุดขึ้นจากไม้ซุงเพื่อข้ามฟาก ชาวบ้านซึ่งเคยชินกับการใช้สะพานข้ามลำน้ำ ต่างได้ร่วมแรงกันสร้างสะ พานไม้ขึ้นมา ใช้ข้ามแม่น้ำปายอีกครั้ง เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคม ส่งผลขั้นรุนแรง ทำลายเรือกสวนไร่นาเสียหาย รวมทั้งน้ำป่าได้พัดสะพานไม้หายไป ทาง อ.ปาย จึงได้ทำเรื่องขอสะพานเหล็กนวรัฐ เดิมของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นไม่ได้ใช้การแล้ว นำมาใช้แทนสะพานไม้ที่ถูกกระแสน้ำพัดทำลายไป
สะพานนวรัฐจาก จ.เชียงใหม่ ได้ถูกทยอยขนย้ายขึ้นมาประกอบใช้ใหม่ ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน หลังจากนั้น 1 ปีเต็ม จึงได้ประกอบขึ้นจนแล้วเสร็จ เป็นสะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย ในปัจจุบันปัจจุบันจะมีสะพานปูนคอนกรีตแบบสร้างอยู่เคียงข้าง แต่สะพานประวัติศาสตร์เก่าแก่แห่งนี้ ก็ยังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่มาเยือน อ.ปาย อย่างสุดๆ เสมือนสัญญาลักษณ์ของปายไปแล้ว ถ้าไม่ได้มาถ่ายภาพคู่สะพานเหมือนว่าไม่ได้มาปาย…เสียอย่างนั้น
ขอแนะนำว่า ว่าเวลาเดินเล่นบนสะพาน นักท่องเที่ยวควรจะระมัด เนื่องจากสะพานนี้มีอายุอานามมาก ประมาณ 100 กว่าปีทีเดียว เพราะฉะนั้นแล้ววัตถุย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา สะพานไม้แห่งนี้ก็ย่อมผุพังไปบ้าง เวลาเดินก็ระวังความปลอดภัยของตัวเอง และเพื่อนร่วมเดินทางกันด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น