เวียงกุมกาม เป็นชุมชนที่เคยมีความเจริญรุ่งเรือง มาก่อนเมืองเชียงใหม่

เวียงกุมกาม เป็นชุมชนที่เคยมีความเจริญรุ่งเรือง มาก่อนเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าในปัจจุบันชื่อของเวียงกุมกาม อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่จากความสำคัญและอดีตที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก่อน จึงทำให้ เวียงกุมกาม กลายเป็นชุมชนเก่าแก่ที่นักโบราณคดีต่างศึกษาค้นคว้า จนปรากฏพบแหล่งโบราณสถานที่สำคัญมากมาย กระจัดกระจายอยู่ในทั่วบริเวณที่ราบลุ่มทางตอนใต้ของเมืองเชียงใหม่เมืองโบราณเวียงกุมกาม ตั้งอยู่ในเขต อ.สารภี จ.เชียงใหม่ บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงซึ่งเป็นบริเวณที่ราบตะกอนใหม่ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ประมาณ 300 เมตร ลักษณะของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันยังปรากฏร่องรอยของแนวกำแพงเมืองและคูเมืองบางตอน มีขนาดกว้างประมาณ 600 เมตร ยาวประมาณ 850 เมตร มีโบราณสถานกระจัดกระจายทั้งนอกเมืองและในเมือง กว่า 25 แห่ง
จากหลักฐานในพงศาวดารภาคที่ 61 ระบุไว้ว่า “ถึงศักราช 648 ตัว ปีระวายเสด พญามังรายเจ้าก็ยกเอาหมู่รี้พลไปตั้งบ้าน “เชียงกุ่มกวม” แม่น้ำระมิง ตั้งบ้านอยู่ 3 แห่ง
แห่งหนึ่งชื่อว่า บ้านกลาง แห่งที่สองชื่อว่า บ้านลุ่ม แห่งที่สามชื่อว่า บ้านแห้มแล เมื่อถึงยามกลางพรร ษาน้ำท่วมฉิบหายมากนัก” จากเอกสารดังกล่าวทำให้เราทราบว่า เวียงกุมกามเป็นเมืองที่พญามังรายทรงสร้างขึ้น หลังจากที่ยกทัพจากเมืองฝาง มายึดครองเมืองหริภุญชัยจากพญายีบา เมื่อปี พ.ศ.1835 หลังจากที่พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองหริภุญชัยเป็นเวลา 2 ปี ก็ทรงมอบให้อ้ายฟ้าที่เข้าเป็นไส้ศึกอยู่ในเมืองหริภุญชัย ก่อนที่จะส่งข่าวให้พญามังราย มาตีเมืองหริภุญชัยสำเร็จครองเมือง
หลังจากนั้น พญามังรายก็ทรงย้ายมาสร้างเมืองใหม่ขึ้น เรียกว่า “เวียงกุมกาม” ในปี พ.ศ.1837 ซึ่งเมืองแห่งนี้มีความเหมาะสมในการใช้แม่น้ำปิง ในด้านการคมนาคม มีการติดต่อกับเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือและตอนใต้ เป็นเหตุให้เวียงกุมกาม ได้พัฒนามาเป็นศูนย์กลางทางการค้าได้ ดังจะเห็นได้จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตอนหนึ่งว่า “เรือค้าขาย ซึ่งมาจากที่ต่าง ๆ เข้ามาค้าขายที่กาดกุมกามเป็นจำนวนมาก จนทำให้เรือชนกันล่มทุกวัน” ส่วนพื้นที่รอบ ๆ เวียงกุมกามนั้น ยังเหมาะสมต่อด้านเกษตรกรรม ในขณะนั้นเวียงกุมกามมีฐานะเป็นเมืองหลวง มีความสำคัญทางด้านกรเมือง เป็นศูนย์กลางที่แลกเปลี่ยนสินค้า แต่ในด้านศาสนานั้นยังคงให้เมืองหริภุญชัยมีบทบาทอยู่ ในฐานะศูนย์กลางพุทธศาสนาต่อไปกาลต่อมาเวียงกุมกามมักประสบกับเหตุน้ำท่วมอยู่เสมอ พญามังรายจึงโปรดให้ตั้งเมืองใหม่ บริเวณเชิงดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง มีลักษณะพื้นที่ลาดเทจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกแทน ในปี พ.ศ.1839 ให้ชื่อเมืองนี้ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เวียงกุมกามจึงลดความสำคัญและมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน ป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในรัชสมัยของพญาติโลกราชว่า เวียงกุมกามมีบทบาทเป็นเพียงพันนาหนึ่งเท่านั้น โดยมีหมื่นกุมกามเป็นผู้ปกครอง ต่อมาเมื่อพม่าเข้ามามีอิทธิพลครอบครองล้านนา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2101 แล้ว ไม่ปรากฏชื่อและหลักฐานเอกสารใดกล่าวถึงอีกเลย
หลังจากที่กรมศิลปากร ได้เข้ามาดำเนินการขุดตกแต่งและบูรณะโบราณสถานต่าง ๆ ในเวียงกุมกามไปแล้วกว่า 10 วัด จึงทำให้เวียงกุมกามกลับมามีความสำคัญในฐานะประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง ของอาณาจักรล้านนา มีการพบโบราณสถานที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง เช่น วัดกานโถม หรือ วัดช้างค้ำ เป็นโบราณที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้านหลังมีอาคารเชื่อมต่อออกไป มีลักษณะเป็นมณฑป ด้านหลังวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งตามตำนานพงศาวดารโยนก ระบุว่า พญามังรายโปรดให้สร้างวัดกานโถมขึ้นในราวปี พ.ศ.1833 ประกอบด้วยเจดีย์มีฐานกว้าง 12 เมตร สูง 18 เมตร ทำซุ้มคูหาสี่ทิศใช้พระพุทรูปซ้อนสองชั้น ชั้นล่างไว้พระพุทธรูปนั่ง 4 องค์ ชั้นบนไว้พระพุทธรูปยืนองค์หนึ่ง นอกจากนี้ในบริเวณวัดกานโถมยังมีต้นศรีมหาโพธิ์ ที่ได้อัญเชิญเมล็ดมาจากเมืองลังกา ในบริเวณเวียงกุมกาม ยังมีโบราณสถานกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ และเจดีย์ที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งก็คือ เจดีย์วัดปู่เปี้ย ,อีก้าง ซึ่งได้รับการบูรณะตกแต่งจากกรมศิลปากรแล้ว วัดนี้ตั้งอยู่ในแนวคูเมือง กำแพงเมืองดิน ทางด้านทิศตะวันตกของเวียง โบราณสถานอยู่ลึกลงไปจากผิวดิน ประมาณ 2 เมตร ประ กอบด้วย วิหาร เจดีย์ อุโบสถและส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น แท่นบูชาและศาลผีเสื้อ ตัวโบราณสถานโดยเฉพาะวิหารมีร่องรอยการก่อสร้างซ่อมแซมกันมาหลายสมัย ส่วนองค์เจดีย์นั้นมีลักษณะทางศิลปกรรมที่ผสมผสาน ทั้งแบบสุโขทัยและล้านนา คือมีเรือนธาตุสูงรับองค์ระฆังขนาดเล็ก ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในรัชสมัยของพญาติโลกราชลงมา คือราวปี พ.ศ.1998-2068วัดอีก้าง ตั้งอยู่ใกล้แนวคูเมือง กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกของเวียง โบราณสถานอยู่ลึกลงไปจากผิวดิน 2 เมตร โบราณสถานมีวิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านหลังวิหารมีอาคารเชื่อมต่อคล้ายมณฑป ส่วนเจดีย์อยู่หลังสุด ลักษณะทางศิลปกรรมของเจดีย์เป็นแบบดั่งเดิมของล้านนา กล่าวคือ มีฐานหน้ากระดานและฐานบัวสองชั้นย่อเก็จรองรับองค์ระฆัง อายุสมัยของเจดีย์อีก้างนา จะอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 21 วัดอีก้าง หรือ วัดอีค่าง แห่งนี้มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า นางค่างตัวหนึ่งมีคุณประโยชน์ต่อพระราชามาก เมื่อตายลงพระราชาจึงสร้างวัดแก่นางค่าง
เวียงกุมกาม อาณาจักรเก่าแก่ของล้านนา แม้ว่าในปัจจุบันจะลดบทบาทความสำคัญลง จนถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของคนรุ่นหลัง แต่ด้วยที่ในอดีตเมืองแห่งนี้ เคยเป็นศูนย์ของการค้าและความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน จึงทำให้เราไม่อาจทิ้งความสำคัญเหล่านี้ลงได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น