นั่งรถไฟแอ่วเมืองเหนือแบบสโลว์ไลฟ์ บนเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

การเดินทางโดย “รถไฟ” มีความสำคัญอยู่คู่บ้านคู่เมืองไทยมาอย่างยาวนาน โดยรถไฟเป็นพาหนะที่สำคัญที่ประชาชนใช้ในการสัญจรติดต่อคมนาคมในอดีตถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 100 ปี โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดขบวนรถไฟสายเหนือกรุงเทพ- ลำปาง จากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีรถไฟนครลำปาง ขบวนแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2459 จากประวัติศาสตร์อันยาวนาน ส่งผลให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟสายเหนือ นครลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด ได้ชมสถาปัตยกรรม บ้านเรือนผู้คน และโบราณสถานต่างๆ ซึ่งมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ชัดเจนบริเวณสองข้างทาง ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาค
นายสวัสดิ์ มูลภาที ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟเป็นโครงการที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือได้รับการพิจารณาและสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ เมื่อปีงบประมาณ 2558 – 2559 และมีนักท่องเที่ยวไม่ว่าจากต่างประเทศและในประเทศได้มีความประสงค์เพื่อเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก นับได้ว่าโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟประสบผลสำเร็จอย่างมาก ประกอบกับปัจจุบันนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่หันมานิยมและให้ความสนใจการท่องเที่ยวทางรถไฟมากขี้น เนื่องจากการเดินทางโดยรถไฟ นับเป็นการคมนาคมขนส่งทางบกที่มีความปลอดภัยที่สุด ที่นักท่องเที่ยวสามารถชื่นชมบรรยากาศวิวและทิวทัศน์บริเวณ 2 ข้างทางได้โดยตลอดเส้นทาง ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินทางโดยรถไฟ เพื่อเป็นพาหนะในการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟในจังหวัดภาคเหนือ จึงได้มีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟสืบสานประเพณีท้องถิ่นวิถีล้านนา ในเส้นทางจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และอุตรดิตถ์ เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวตามเส้นทางของรถไฟในภาคเหนือ ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว โดยจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวทางรถไฟฯ ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ในการขับเคลื่อนและส่งเสริมกิจกรรมโครงการ โดยกำหนดกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟ และจัดการดำเนินการให้มีขบวนรถไฟวิ่งระยะสั้น ระหว่างจังหวัดในภาคเหนือได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์-แพร่(เด่นชัย)-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่ เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในจังหวัดภาคเหนือเป็นการกระจายและขยายฐานนักท่องเที่ยวยกระดับ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดในภาคเหนือ
โดยเส้นทางการท่องเที่ยวทางรถไฟสืบสานประเพณีท้องถิ่นวิถีล้านนา ได้แบ่งออกเป็น 4 เส้นทางได้แก่ 1.เส้นทาง เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง 2.เส้นทาง ลำปาง-แพร่-อุตรดิตถ์ 3.เส้นทาง ลำพูน-ลำปาง-แพร่ และ 4.เส้นทาง ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่ ซึ่งตลอดการเดินทางนักท่องเที่ยวจะได้ๆสัมผัสบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ ชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตลอด 2 ข้างทางรถไฟ อย่างเช่นเส้นทาง เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง ก็จะมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายจุดเช่น สะพานทาชมภู สะพานที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2462 มีลักษณะรูปทรงโค้งทาสีขาว เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ชมอุโมงค์ขุนตาน ซึ่งเป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย จากจำนวนทั้งสิ้น 7 อุโมงค์ มีความยาวถึง 1,352.15 เมตร ใช้เวลาในการก่อสร้างยาวนานถึง 11 ปี เริ่มขุดเจาะตั้งแต่ปี 2450 แล้วเสร็จในปี 2461 โดยอุโมงค์แห่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นอุโมงค์คอนกรีตเสริมเหล็กตลอดแนวขุดอุโมงค์ลอดเท่านั้น และเมื่อสร้างเสร็จก็ให้ชื่อว่าอุโมงค์ขุนตาน แวะพักที่สถานีขุนตาน สักการะศาลเจ้าพ่อขุนตาน และสถูปของวิศวกรผู้สร้างอุโมงค์ขุนตาน ชมพิพิธภัณฑ์รถไฟ ประแจสับรางแบบโบราณ ถ่ายภาพกับอุโมงค์ขุนตาน เป็นต้น
โดยตลอดการเดินทางจะมีมัคคุเทศก์นำเที่ยวได้ให้ข้อมูลและความเป็นมาของเส้นทางการท่องเที่ยวรถไฟ มีบริการอาหารว่าง อาหารกลางวัน ที่พัก และนั่งรถม้า นำเที่ยวนครลำปาง ซึ่งมีผู้ประกอบการนำเที่ยว ภาคเอกชนจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ได้นำเสนอแพ็คเกจท่องเที่ยวในราคาพิเศษ เป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวทางรถไฟสายวัฒนธรรม ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ เพื่อส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์เพื่อการท่องเที่ยว ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ที่มีลักษณะภูมิประเทศที่งดงาม ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ภูมิอากาศที่น่าอยู่ ประชากรมีวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีที่เก่าแก่ มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งมีความเหมาะสมในการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย และมีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว มีสถานบริการทางด้านที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ที่มีมาตรฐาน พร้อมสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) ของภูมิภาค ได้เป็นอย่างดี อันจะเป็นการสนับสนุนส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ นายสวัสดิ์ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น