แอ่วดอยหล่อ ผ่อ “ผาช่อ” มหัศจรรย์ธรรมชาติกำแพงผา

อำเภอเล็กๆ อย่าง “ดอยหล่อ” เป็นอำเภอที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหล่อๆ ให้สัมผัสมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผาช่อ” ที่ถือเป็นพระเอกประจำอำเภอก็ว่าได้
“ผาช่อ” นั้นตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่วาง ซึ่งการจะเข้าไปชมผาช่อนั้น ต้องเดินเท้าเข้าไปราวๆ 900 เมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางจะเป็นธรรมชาติอันซับซ้อนของป่าเขา ที่มีจุดให้ศึกษาระบบนิเวศ ตลอดเส้นทาง 10 จุดด้วยกัน จุดที่ 1 เป็นสถานี “มะม่วงหัวแมงวัน” ที่เป็นไม้มีพิษ เนื้อไม้สีน้ำตาลปนเทาใช้ทำลังใส่ของ ทำประตูหน้าต่าง และเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งบ้าน โดยมะม่วงหัวแมงวันอยู่ในวงศ์ไม้มีพิษ ในผู้ที่แพ้นั้นจะมีผื่นขึ้นซึ่งเกิดจากการสัมผัสโดยตรงหรือกินเข้าไป
จุดที่ 2 สถานี “เหมือดคน” ที่เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งก่อสร้าง ใบต้มน้ำแล้วเอามาล้างตา แก้อาการเจ็บตา เปลือกต้นนำไปรวมกับส่วนผสมอื่นๆในการย้อมผ้า เปลือกต้นมีรสฝาดถ้ารับประทานเข้าไปจะทำให้อาเจียน ใช้สำหรับผู้ที่กินอาหารที่มีพิษเข้าไป
จุดที่ 3 สถานี “ชะมวง” พืชอาหารและยา ใบมีรสเปรี้ยว ระบายท้อง แก้ไข้ กัดฟอกเสมหะ แก้ธาตุพิการ ใบผสมกับยาชนิดอื่นปรุงเป็นยาขับเลือดเสีย ยอดอ่อนรับประทานเป็นผัก ออกในฤดูฝน ส่วนผลมีรสเปรี้ยว เป็นผลไม้ป่าที่รับประทานเล่นได้ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
จุดที่ 4 สถานี “ปรงป่า” เป็นพืชบำรุงดิน เมล็ดมีแป้งนำมารับประทานได้ รากมีปมเป็นกิ่งแผ่ฝอยที่ช่วยจับไนโตรเจนในดินได้ดี จุดที่ 5 สถานี “แก้มขาว” ใบต่างดอก ลำต้นนำมาใช้ทำยารักษาโรคริดสีดวงทวาร หรือต้มน้ำดื่มและผสมกับสมุนไพรอื่นๆ อีก 9 อย่างบำรุงกำลัง
จุดที่ 6 สถานี “เถาว์มะหนัง” ซึ่งเถาว์มะหนัง เป็นพืชที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้ใหญ่ที่โอบรัดอยู่ ป้องกันการชะล้างหน้าดิน และลดผลกระทบจากพายุลมฝน เนื่องจากรากไม้ในป่าเขตร้อนจะตื้นจึงอาจทำให้ไม้ใหญ่โค่นล้มได้ง่าย
จุดที่ 7 สถานี “คำมอกหลวง” เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก พบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าผสมผลัดใบ และป่าเต็งรัง แก่นของคำมอกหลวงนำไปใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคเบาหวาน หรือนำมาต้มรวมกับแก่นมะพอกให้หญิงอยู่ไฟ ใช้อาบและสระผม เมล็ดนำมาต้มเคี่ยวกับน้ำ ใช้ผสมเป็นยาฆ่าเหา เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง
จุดที่ 8 สถานี “ปอเต่าไห้” เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยตั้งตรง โดยตามตำรายาไทย แก่นใช้แก้ประดง แก้ผื่นคันตามผิวหนัง แก้โรคเรื้อน คุดทะราด แก้ไอ แก้หืด ขับเสมหะ ขับลม รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย ใบนำมาต้ม ใช้รักษาโรคตา ผลใช้เป็นยาถ่าย เปลือกให้เส้นใยใช้ทำเชือก จุดที่ 9 สถานี “เสาโรมัน” เป็นเสาที่มีลักษณะเป็นเสาดินสูง มีความสูง 30 เมตร มีลวดลายที่สวยงาม ลวดลายเกิดจากการทับถมเป็นชั้นๆ ของตะกอนในช่วงปลายยุคเทอร์เชียรี่ (ยุคที่แผ่นทวีปเคลื่อนที่เข้าสู่ตำแหน่งปัจจุบัน) ต่อมาเกิดการแปรสัณฐานของธรณี บริเวณนี้ถูกยกตัวขึ้น แล้วถูกกัดเซาะด้วยน้ำ ด้วยลม ซึ่งการกัดเซาะช่วงแรกๆ อาจมีลักษณะเป็นหน้าผาเหมือนกับผาช่อ และเมื่อกาลเวลาผ่านไปหน้าผาถูกชะล้าง กัดเซาะเรื่อยๆ จนเหลือเพียงเสาดินที่มีลวดลายสวยงามและแปลกตาและจุดที่ 10 สถานีไฮไลต์กับ “ผาช่อ” ธรณีสัณฐานลักษณะแปลกตา เป็นหน้าผาสูงประมาณ 30 เมตร เกิดจากตะกอนที่สะสมบริเวณขอบแอ่ง และเชิงเขาของแนวเทือกเขาถนนธงชัยกลาง ตั้งแต่ปลายยุคเทอร์เชียรี่ (ประมาณ 5 ล้านปีก่อน) สันนิษฐานว่าบริเวณแห่งนี้ เคยเป็นเส้นทางเดินของแม่น้ำมาก่อน สังเกตได้จากกรวดหินที่มีลักษณะกลมมน คล้ายหินแม่น้ำที่กระจัดกระจายอยู่ตามเนื้อดิน ต่อมาเกิดการแปรสันฐานของธรณี ทำให้บริเวณนี้ถูกดันตัวขึ้นกลายเป็นพื้นที่เนินเขาและที่ลาดลอนชัน เนื่องจากตะกอนยุคเทอร์เชียรี่มีอายุไม่มากนัก
จึงยังไม่เปลี่ยนสภาพเป็นหินแข็ง ชั้นของตะกอน หินกรวด และหินทราย ที่วางตัวเป็นชั้นสลับกัน มีคุณ สมบัติคงทนต่อการสึกกร่อนต่างกัน เมื่อถูกน้ำกัดเซาะ ชะล้างหน้าดิน ทำให้เกิดเป็นหน้าผาและแท่งเสาดินที่มีลวดลายสวยงาม นอกจาก อุทยานแห่งชาติแม่วาง จะมีผาช่อให้เที่ยวชมกันแล้ว ที่นี่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายให้สัมผัสกัน ไม่ว่าจะเป็น กิ่วเสือเต้น ถ้ำน้ำออกฮู ถ้ำหลวงน้ำตกม่านฟ้า ผาแดง และหมู่บ้านกะเหรี่ยงนาสา เป็นต้น
งานนี้หากแวะเวียนมาเยือน ดอยหล่อ ก็อย่าลืมเลี้ยวรถเข้ามาผ่อ “ผาช่อ” กัน พร้อมทั้งสัมผัสธรรมชาติอันงดงามของอุทยานแห่งชาติแม่วาง สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่วาง โทรศัพท์ 053-818348 และ 053-819349 ทุกวันในเวลาทำการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น