“ป่าเป้า” วัดในวังเวียงเชียงใหม่ ศูนย์รวมใจไทใหญ่ แห่งแรกในไทย

บริเวณวัดป่าเป้า ย่าน ต.ศรีภูมิ นครเชียงใหม่ เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของคุ้มเวียงบัว หรือวังของ พระเจ้ากือนาธรรมิกราช พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 6 แห่งราชวงค์มังราย

ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดพราหม์ เยื้องๆสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตเชียงใหม่ ในอดีตเมื่อ 600 กว่าปี อาณาบริเวณของวัดป่าเป้า กว้างใหญ่ไพศาล ด้านติด ถ.มณีนพรัตน์ เคยเป็นคูเมืองติดกำแพงเมือง ก่อนจะถมบางส่วนสร้างถนน ขณะนี้พื้นที่วัดเหลือเพียง 10 ไร่ 81 ตร.ว. และเขตภายนอกกำแพงวัดเป็นเขตธรณีสงฆ์อีก 1 ไร่ 2 งาน 73 ตร.ว.
เมื่อพระเจ้ากาวิละ ครองนครเชียงใหม่องค์แรก ในปี พศ.2317 นับเป็นยุคสมัยทำนุบำรุงบ้านเมือง ให้เจริญรุ่งเรือง มีการกวาดต้อนผู้คน ในหัวเมืองทิศต่างๆทั่วสารทิศ ทั้งเชียงของ เชียงราย , เมืองยอง เชียงตุง เมืองตองกาย สิบสองปันนา และมีครอบครัวหมอยาชาวไทใหญ่ ที่มีภรรยาชื่อแม่เฒ่าด้าว นำบุตรธิดารวม 6 คนมาด้วย 1 ในธิดาคือ แม่นางไหล ต่อมาถวายตัวเป็นข้ารับใช้เบื้องบาท พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ก่อนสวามิ ภักดิ์แผ่นดินสยาม สมัยรัชกาลที่ 5 มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช

เมื่อปี 2426 หม่อมบัวไหล (แม่นางไหล) พระสนมเชื้อสายไทใหญ่ ได้นำชาวไทใหญ่ พัฒนาพื้นที่คุ้มเก่า วังเก่าของพระเจ้ากือนาธรรมิกราช ซึ่งปกคลุมด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ จากผลของการปล่อยทิ้งรกร้างช่วงเกิดศึกสงครามกับพม่าบริเวณดังกล่าวมีต้นเป้าสมุนไพรชนิดหนึ่ง ขึ้นอยู่หนาแน่น และในปี 2432 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้เป็นองค์ประ ธานสร้างพระเจดีย์และวิหารไม้ ศิลปะ สถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ กลายเป็นวัดศูนย์รวมใจชาวไทใหญ่แห่งแรกในไทย และได้รับพระราชทานวิสุงคาม เมื่อปี 2499

ภายในวัดเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีการสร้างโรงเรียนภายในวัด เพื่อให้การศึกษาลูกหลานชาวไทใหญ่ที่มาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ เป็นศูนย์เรียนรู้ ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม ล้านนา -ไทย-ไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์
ทุกๆ ปีช่วงก่อนประเพณีสงกรานต์ ที่นี่จะมีการจัดงานบวชลูกแก้วหรืองานปอยส่างลอง ถือว่าเป็นงานบุญประเพณีของไทใหญ่ที่ยิ่งใหญ่อีกแห่งในไทยหลายๆ ต่อหลายครั้งในอดีต เมื่อมีกรณีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ นอกเขต แดนด้านภาคเหนือของไทย บางห้วงเวลาที่วัดจะเป็นเสมือน แหล่งลี้ภัย ฐานที่มั่นสุดท้ายของชีวิตไทใหญ่ ผู้พลัดถิ่น พเนจร มาจากต่างบ้าน ต่างเมืองมาอาศัยใบบุญแผ่นดินไทย แผ่นดินอันสุขสงบร่มเย็น จนไม่อยากจะหวนคืนสู่บ้านเกิด เมืองนอน แต่ด้วยข้อตกลง และบริบททางสังคมพลิกผันไป สนามรบกลายเป็นสนามการค้า การไปมาหาสู่กันระหว่างชาวไทใหญ่รุ่นบุกเบิก จนมีลูกหลานได้สัญญาติไทย กับกลุ่มไทใหญ่ ในรัฐต่างๆของเมียนมา สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างปกติ ภายใต้เงื่อนไขสิทธิเสรีภาพ และความมั่นคงแห่งรัฐฯ

ดังนั้น เมื่อมีการจัดงานบุญประเพณี ในแต่ละครั้งที่วัดเก่าแก่ ที่มีความพิเศษมากกว่าความเป็นวัด จึงกลายเป็นงานบุญหลวงที่ยิ่งใหญ่ของไทใหญ่ในแผ่นดินนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น