กลุ่มเครือข่าย “จันทร์ฮอม หอมแฮง” ทำกิจกรรมเพาะต้นกล้าลาน เตรียมนำไปทดแทน ต้นเก่าที่หักโค่น

กลุ่มเครือข่าย “จันทร์ฮอม หอมแฮง” พร้อมชาวบ้าน ร่วมทำกิจกรรมเพาะต้นกล้าลาน เตรียมนำไปทดแทน ต้นเก่าที่หักโค่น จากฤทธิ์พายุ
ช่วงเช้าวันนี้ (14 พ.ค.61) ที่บริเวณภายในสวนสาธารณหนองบวกหาด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กลุ่มเครือข่าย “จันทร์ฮอม หอมแฮง” พร้อมประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ ได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพาะต้นกล้าลาน โดยการนำลูกลานจากต้นลานเก่าแก่ที่อยู่คูเมืองเชียงใหม่ บริเวณแจ่งหัวลิน ตรงข้ามฝั่งถนนมณีนพรัตน์ ซึ่งเกิดหักโค่นลงมาจากฤทธิ์พายุฤดูร้อน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 24 เม.ย.61 ที่ผ่านมา มาทำการเพาะปลูกด้วยการใช้ลูกลาน แกะเปลือกที่หุ้มอยู่ด้านนอกออก แล้วทำการเพาะกล้าด้วยวัสดุเพราะปลูกกล้าไม้ ก่อนจะดูแลต้นกล้าจนแข็งแรง ซึ่งต้องใช้เวลาในการดูแลประมาณ 1 ปี และนำไปทำการเพาะปลูกตามวัดและสถานที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ รวมถึงจุดเดินที่ต้นตาลเก่าแก่หักโค่นไปด้วย โดยทาง นายดิเรก อินจันทร์ จนท.ศูนย์ใบลานศึกษา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏเชียงใหม่ เปิดเผยว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นความตั้งใจ ของเครือข่ายในการขยายพันธุ์ต้นลาน ที่อยู่บริเวณแจ่งหัวลินให้เจริญเติบโต แล้วนำไปปลูกตามสถานที่ต่างๆ และปลูกทดแทนต้นเดิมที่ตายไปแล้ว โดยขั้นตอนการเพาะพันธุ์กล้าต้นลานนั้น ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานพอสมควร ซึ่งมีตัวอย่างที่ได้มีการเพาะปลูกไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.61 รวมระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ก็เพิ่งแตกใบมาเพียง 2-3 ใบ และต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี ที่คาดว่าต้นจะแข็งแรงพอ ที่จะนำไปปลูกในดินหรือขยายพันธุ์ในที่อื่นๆ ต่อไป สำหรับบริเวณที่ตั้งใจจะนำไปเพาะปลูกหลักๆ คืออยากจะนำไปปลูกเพื่อทดแทนต้นเดิมที่ตายไป และบางส่วนเมื่อมีต้นกล้าเพียงพอ หากมีวัดหรือสถานที่ต่างๆ ต้องการนำไปปลูกก็สามารถแบ่งไปเพื่อนำไปขยายพันธุ์ได้ โดยต้นลานนั้นถือเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์ เช่นในสมัยโบราณนั้นลานถือเป็นวัสดุสำคัญที่ใช้ในการบันทึกเรื่องราว และองค์ความรู้ต่างๆ โดยการเขียนใส่ลงไปในใบลาน เนื่องจากใบลานสามารถเก็บรักษาได้นานมีอายุยืนยาว และมีหลักฐานใบลานเก่าแก่สุดประมาณ 500 ปี ที่ยังคงมีสภาพดีอยู่ นอกจากนี้ใบลานยังสามารถนำมาเป็นวัสดุ ในการทำงานสานได้อีกมากมาย รวมไปถึงลูกลานก็สามารถนำมาทำเป็นอาหารรับประทานได้อีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น