วันความดันโลก แพทย์แนะให้คนไทยตื่นตัว โรคความดันโลหิตสูง

กรมการแพทย์ เผยโรคความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย และโรคหัวใจ ส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ ชวนประชาชนใส่ใจสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในระดับประเทศและระดับโลก สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก และสมาคมโรคความดันโลหิตสูงนานา ชาติ จึงกำหนดให้วันที่ 17 พ.ค.ของทุกปี เป็น “วันความดันโลหิตสูงโลก” (World Hypertension Day) เพื่อให้ประชากรทั่วโลก มีความตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูง เพราะโรคนี้เป็นภัยเงียบ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่มีสัญญาณเตือน หรือแสดงอาการให้เห็นชัดเจนในช่วงแรก แต่เกิดอาการก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่มีโรคแทรกซ้อนแล้ว
โดยจะมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย เหนื่อย นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดปกติ นำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจวาย หลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ไตเสื่อม เส้นเลือดในสมองแตกทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออันตรายถึงชีวิต ความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ พบได้ถึงร้อยละ 80-90 อาจเกิดจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความอ้วน การรับประทานอาหารรสเค็มจัด ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย การตั้งครรภ์บ่อยครั้ง โรคเบาหวาน การรับประทานยาคุมกำเนิด
นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่สามารถป้องกันได้ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้ความดันโลหิตสูง ควรตรวจเช็คร่างกาย และวัดความดันโลหิตเป็นประจำ พยายามควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนไม่รับประทานอาหารรสเค็มจัด รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ความวิตกกังวล ทำกิจกรรมที่รู้สึกผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง รดน้ำต้นไม้ อ่านหนังสือ งดบุหรี่และสุรา ทั้งนี้ หากพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น