ทีเส็บหนุน ” อินเตอร์แมค ” ดึงไมซ์ต่างประเทศโชว์นวัตกรรม Smart Factory ระบบการผลิตโดยไม่ใช้แรงงาน

ทีเส็บหนุน ” อินเตอร์แมค ” ดึงไมซ์ต่างประเทศโชว์นวัตกรรม Smart Factory ระบบการผลิตโดยไม่ใช้แรงงาน คาดว่าจะมีการเจรจาการค้ามูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่างาน อินเตอร์แมค 2018 (Intermach 2018) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม 2561 นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ สะท้อนนโยบายสำคัญของ ทีเส็บ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดประชุมและแสดงสินค้าที่สร้างประโยชน์แก่ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

ในการจัดงานเป็นครั้งที่ 35 นี้ ทีเส็บ จึงร่วมมือกับบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของงานเพื่อยกระดับงาน โดย ทีเส็บ เข้าสนับสนุนผ่านสองแคมเปญหลัก คือ Exhibiz in Market และ Connect Businesses ที่ครอบคลุมตั้งแต่การทำตลาดในต่างประเทศ การดึงดูดองค์กรและรัฐบาลต่างประเทศให้เข้ามาร่วมจัดแสดงสินค้า ตลอดจนการชักจูงผู้ซื้อที่มีศักยภาพในภูมิภาคให้เข้ามาในงาน จึงเป็นการร่วมมือกันอย่างครบวงจรการจัดแสดงสินค้า

จากความร่วมมือกันดังกล่าวทำให้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 45,000 คน และมีมูลค่าการค้าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท เนื่องจากประสบความสำเร็จในการชักจูงให้องค์กรและรัฐบาลต่างประเทศมาเปิดศาลาแสดงงาน (pavilion) ทำให้พื้นที่แสดงสินค้าขยายเป็น 38,000 ตารางเมตร โดยในปีที่แล้วมีผู้เข้าร่วมงาน 43,000 คน มีบริษัทต่างๆ มาร่วมงาน 600 บริษัทจากทั่วภูมิภาค

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า งานอินเตอร์แมค 2018 นี้จะจัดแสดงเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติที่ทันสมัยสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม่พิมพ์ และอุตสาหกรรมโลหะการ เวทีนี้จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่จะมีโอกาสใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตภายใต้แนวความคิด “Redefining Manufacturing through Advanced Technology” แนวคิดนี้จะมีการนำเสนอผ่านการสาธิต “SMART Factory Showcase” โดยจะแสดงให้เห็นกระบวนการผลิตอัตโนมัติที่ไม่มีแรงงานมนุษย์มาเกี่ยวข้อง และจะเป็น “การสั่งงานและควบคุม” ผ่านทางอินเทอร์เนต โดยการนำเสนอการผลิตชิ้นงานจริงผ่านสายการผลิตด้วยเครื่องจักรต่างๆ เช่น แขนหุ่นยนต์เครื่องพับ เครื่องแมช ชีนนิ่งเซ็นเตอร์ เครื่องกลึง เครื่องวัด ทั้งหมดทำงานร่วมกันโดยระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งการจัดแสดงรูปแบบนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในอาเซียน

“เป้าหมายของการสนับสนุนการจัดงานอินเตอร์แมค 2018 นั้น นอกเหนือจากเป็นการรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มยอดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการรักษาตำแหน่งของการเป็นประเทศที่มีจำนวนพื้นที่ขายสุทธิมากที่สุด (Net Space Sold) ในอาเซียนอีกด้วย นอกจากนี้ งานดังกล่าวยังจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการใช้กิจกรรมไมซ์เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยคาดว่าการจัดงานปีนี้จะสามารถสร้างมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานในและต่างประเทศรวมทั้งสิ้นกว่า 45,000 คน” นายจิรุตถ์ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น