พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ขัติยนารีของเมืองเชียงใหม่

ถ้าหากย้อนถึงอดีตของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระองค์ทรงเป็นพระธิดาองค์ที่ 11 ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 กับแม่เจ้าทิพเกษร ทรงประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน 10 (เหนือ) ขึ้น 4 ค่ำปีระกา ในเวลา 03.00 น.ตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2416 ที่คุ้มหลวงเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศาลากลางหลังเก่าและหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาอักษรไทยเหนือและไทยกลาง ทรงมีความสนใจและเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีของล้านนาเป็นอย่างดี
ปี พ.ศ.2429 ได้เสด็จตามพระบิดาลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพแล้วเลยอยู่รับราชการฉลองพระเดชพระคุณฝ่ายในเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อทรงประสูติพระราชธิดาแล้วทรงโปรดเกล้าฯให้เลื่อนฐานะศักดิ์เป็นพระสนมเอก กระทั่งปลายปี พ.ศ.2451 หลังจากที่เสด็จกลับมาเยี่ยมนครเชียงใหม่เป็นครั้งแรกด้วยเรือหางแมงป่อง ประทับอยู่ไม่นานจึงเสด็จกลับกรุงเทพฯจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระราชชายา

ในระหว่างที่ทรงรับราชการในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งรวมเป็นระยะเวลานานถึง 28 ปีนั้น พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้ทรงดำรงพระองค์อย่างเหมาะสม พระองค์ทรงยึดมั่นในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีของล้านนาเอาไว้ โดยโปรดให้ข้าหลวงในวังนุ่งซิ่นไว้ผมมวย แต่งกายแบบชาวเชียงใหม่ พูดภาษาคำเมืองและกินเมี่ยง ขณะเดียวกันก็ทรงเรียนดนตรีไทยภาคกลาง จนกระทั่งพระองค์ทรงดนตรีได้หลายอย่าง นอกจากนั้นยังทรงสนับสนุนให้พระญาติและข้าหลวงเรียนและฝึกเล่นดนตรีไทยภาคกลางจนสามารถตั้งวงเครื่องสายได้

พระราชชายาเจ้าดารารัศมียังทรงสนพระทัยในเรื่องการถ่ายรูป ซึ่งสมัยนั้นเป็นของใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย พระญาติของท่านคนหนึ่งที่อยู่ร่วมพระตำหนักได้ชื่อว่าเป็นช่างภาพผู้หญิงคนแรกของไทยรับงานถ่ายรูปของราชสำนัก การที่พระองค์ทรงมีพระจริยาวัตรงดงามตลอดเวลาที่ทรงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จึงทำให้ทรงได้รับการโปรดเกล้าฯพระราชทานตราปฐมจุลจอมเกล้าสำหรับฝ่ายในแก่พระราชชายาเป็นรุ่นแรกพร้อมกับพระภรรยาเจ้าและพระราชธิดา ซึ่งมีเพียง 15 พระองค์ และยังได้โปรดเกล้าฯให้พระราชชายาทรงออกรับแขกเมืองเมื่อครั้งเจ้าหญิงแสนหวี แห่งแคว้นแสนหวีเสด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอีกด้วย
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้เสด็จมาประทับอยู่ที่เชียงใหม่อีกเป็นครั้งที่ 2 ตราบจนพระองค์สิ้นพระชนม์ ในการเสด็จมาประทับเชียงใหม่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจอันก่อให้เกิดคุณูปการแก่แผ่นดินในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเกษตร การศาสนา การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม ในด้านการเกษตรพระองค์ทรงโปรดให้เจ้าชื่น สิโรรส จากโรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรมเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าดำเนินการทดลองปลูกพืชทางการเกษตรด้วยทรงหวังช่วยเกษตรกรรมของภาคเหนือ ทรงทดลองปลูกเมล็ดพันธุ์กระหล่ำปลีจากต่างประเทศจนได้ผลดีแล้วโปรดให้ขยายพันธุ์และแจกจ่ายชาวบ้านไปทดลองปลูก กระทั่งกระหล่ำปลีได้แพร่หลายในเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังทรงนำพันธุ์ลำไยซึ่งมีคนจีนนำมีถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่กรุงเทพฯ ท่านทรงเห็นว่าเชียงใหม่น่าจะปลูกได้ผลดี จึงทรงนำลำไยมาปลูกเป็นครั้งแรกในเชียงใหม่ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจในปัจจุบันในด้านการส่งเสริมการศึกษาพระองค์ได้เป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนดาราวิทยาลัย ด้วยในฐานะที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสตรีแห่งแรกของเชียงใหม่ โดยได้ประทานชื่อว่า “โรงเรียนพระราชชายา” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “โรงเรียนดาราวิทยาลัย” นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงประทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและทรงสนับสนุนให้เจ้าราชวงศ์ยกที่ดินคุ้มหลวงให้แก่โรงเรียนดาราวิทยาลัยและโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยต่อจากพระบิดา พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยพระกรณียกิจที่ทรงอุปถัมภ์บำรุงต่อแวดวงการศึกษาของเชียงใหม่ จึงทรงได้รับการเทิดพระเกียรติว่า ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือที่มีบทบาทสำคัญที่สุดพระองค์หนึ่งในการพัฒนาการศึกษาของนครเชียงใหม่
ด้านการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา พระราชชายาทรงมีความสนพระทัย ในศิลปวัฒนธรรมทั้งของล้านนาและภาคกลาง ไม่ว่าจะในเรื่องการละคร ดนตรี งานประดิษฐ์ ศิลปะการทอผ้า การเย็บปักถักร้อย สิ่งใดของล้านนาที่ทรงเห็นว่าควรอนุรักษ์ไว้ก็โปรดให้ฟื้นฟูขึ้นใหม่เป็นศิลปที่เชิดหน้าชูตาของชาวเหนือ ในส่วนของการฟ้อนรำพื้นเมืองเหนือนั้น ทรงเอาพระทัยใส่เป็นอย่างมาก โปรดให้มีการฝึกซ้อมเพื่อออกแสดงในงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ฟ้อนที่ทรงโปรดให้ฝึกและฟื้นฟูได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนม่านเม่เล้ ฟ้อนมอญ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ซึ่งได้ทรงปรับปรุงมาจากระบำในราชสำนักของพม่า
นอกจากนั้นยังมีพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติต่อเนื่องอีกมากมายหลายประการ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วถูกสืบทอดมาจากภูมิปัญญาของคนล้านนาในอดีต และด้วยเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาและยังเป็นการอนุรักษ์รักษาไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมาไม่หายสูญหาย ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้เสด็จไปปลูกพระตำหนักประทับที่อำเภอแม่ริม เพื่อทรงต้องการความสงบและปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น กุหลาบ กะหล่ำปลี ถั่วลิสง ฯลฯ ซึ่งสมเด็จฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้ทรงตั้งนามพระตำหนักหลังใหม่ว่า “ตำหนักดาราภิรมย์” และสวนทดลองการเกษตรในที่แห่งเดียวกันว่า “สวนเจ้าสบาย”
พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงประทับที่พระตำหนักดาราภิรมย์จนถึงวาระสุดท้าย กระทั่งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2476 พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยโรคปัปผาสะพิการ (โรคปอด) รวมพระชนมายุได้ 60 ปีเศษ ซึ่งนับเป็นการสูญเสียเจ้านายฝ่ายเหนือที่ทรงเปี่ยมด้วยคุณูปการต่อเมืองเชียงใหม่จนหาที่เปรียบไม่ได้พระองค์หนึ่ง.

ร่วมแสดงความคิดเห็น