เจาะเวลาหาอดีต เวียงเก่าๆ ในเมืองเก่าแก่ที่สุดในไทย

ในภาคเหนือ นอกจากเชียงใหม่จะพยายามผลักดันเมือง สู่เป้าหมายเมืองมรดกโลก จนได้รับการขึ้นบัญชีเพื่อรอการพิจารณาเมื่อปี 2558 ส่วนจะได้ตีตรารับประกันในชาตินี้หรือชาติหน้าต้องรอลุ้นผล
ยังมีอีกจังหวัดที่ขับเคี่ยว เกี่ยวดองเป็นเมืองแฝดกับเชียงใหม่ นั่นก็คือ หริภุญชัยนคร หรือ จ.ลำพูนในปัจจุบัน บางรายละเอียดจากเอกสารเพื่อศึกษาคุณค่า ความโดดเด่นของนครลำพูนสู่เมืองมรดกโลก ระยะที่ 2 ได้น้อมนำพระราชดำรัส ร.9 คราวเสด็จประพาส พระนครศรีอยุธยา ด้วยความสนพระทัยในอดีตของชาติ เมื่อปี 2506 มาเกริ่นนำในหลักการของแผนฯ
ความตอนหนึ่งว่า ..” เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพ ฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย…”หากจะเล่า  ย้อนประวัติศาสตร์นครลำพูน คงต้องเริ่มช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 โดยตำนานกล่าวถึง สุกทันตฤาษีและฤาษีวาสุเทพ ร่วมกันสร้างหริภุญชัยนคร บริเวณริมฝั่งตะวันตกแม่น้ำปิง จากนั้นเชิญเสด็จพระนางจามเทวี แห่งกรุงละโว้มาปกครอง
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระนาง ยังคงมีกษัตริย์ในวงศ์จามเทวี ครองสืบมาอีก 7 รัชกาล พอราวๆพุทธศตวรรษที่ 19 จึงถูกพญามังราย ยกทัพจากเวียงเชียงรายมาตียึดครองได้สำเร็จ เปลี่ยนผ่านอาณาจักรหริภุญชัย เป็นอาณาจักรล้านนาและเข้าสู่ยุคล้านนาภายใต้ปกครองของพม่า จนกระทั่งยุคฟื้นฟูบ้านเมือง มีเจ้าผู้ครองนคร ก่อนเป็นแผ่นดินเดียวกับสยาม และประเทศไทย จะเห็นได้ว่าแคว้นหริภุญชัย เมืองโบราณเมืองนี้ มีบริบททาง สังคม ประวัติศาสตร์ที่โดดเด่น ทรงคุณค่า น่าสนใจศึกษา มีศักยภาพมากพอจะยกระดับเป็นเมืองมรดกโลก
ด้วยรอยอดีตของเมืองบริวาร ที่มีทั้งเวียงหริภุญชัย เมืองเก่าแก่ที่สุดในแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน เวียงเขลางค์นคร เมืองที่โอรสองค์เล็กแห่งพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์อาณาจักรหริภุญชัยทรงปกครอง
เวียงท่ากาน บริเวณบ้านกลาง อ.สันป่าตอง, เวียงมะโน แถวๆบ้านหนองตอง อ.หางดง , เวียงเถาะ บ้านสองแคว อ.จอมทอง เวียงหอด หรือเวียงฮอด ในเขต ต.หาง อ.ฮอด เป็นกลุ่มเวียงในพื้นที่ปกครองของจ.เชียงใหม่ในวันนี้
และกลุ่มเวียงสมัยล้านนา ที่มีทั้งเวียงลี้ ในเขต ต.ลี้ เวียงหนองล่อง, เวียงสะแกง เขต อ.เวียงหนองล่อง, เวียงหนองผำ อ.ป่าซาง , เวียงหวาย อ.บ้านโฮ่ง และเวียงในสมัยฟื้นฟูบ้านเมือง เวียงป่าซาง อ.ป่าซาง ประจักษ์พยานของชุมชน ถิ่นฐานต่างๆ เหล่านี้ น่าเสียดาย หากปล่อยให้พังทลาย ทรุดเลือนหายจมธรณีไปกับกาลเวลา เพียงเพราะเป็นเพียงเศษอิฐ กองอิฐ แนวกำแพงเก่าๆ ในพงป่ารกชัน ขอฝากพลังชุมชน บ้าน วัด สถานศึกษา ร่วมดูแล อนุรักษ์ ปกป้อง รักษา สิ่งที่ทรงคุณค่า ของดีที่มีอยู่ เป็นสมบัติชาติบ้านเมืองตลอดไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น