กรมควบคุมโรค ขอประชาชนตระหนัก แต่อย่าตระหนก ย้ำไทยยังไม่พบผู้ป่วยนิปาห์

กรมควบคุมโรค ขอประชาชนตระหนักแต่อย่าตระหนก ย้ำไทยยังไม่พบผู้ป่วยนิปาห์ เน้นหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดค้างคาวผลไม้และสารคัดหลั่ง ป้องกันการติดเชื้อได้
กรมควบคุมโรค ขอประชาชนตระหนักแต่อย่าตระหนก พร้อมเผยยังคงเฝ้าระวังทั้งในและนอกประเทศ ย้ำยังไม่พบผู้ป่วยนิปาห์ในไทย เน้นให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับค้างคาวผลไม้ และสัตว์พาหะนำโรค โดยเฉพาะสารคัดหลั่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ WHO แนะนำชาวสวนน้ำตาลลดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ ด้วยการคลุมปากภาชนะและดอกมะพร้าวและต้มให้เดือดก่อนรับประทาน
วันที่ 2 มิถุนายน 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่สื่อออนไลน์มีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องชาวสวนไทย โดยเฉพาะสวนน้ำตาลมีความเสี่ยงของต่อการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ที่มีการระบาดอยู่ในประเทศอินเดียและศรีลังกา นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่าในประเทศไทยยังคงต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทั้งประเทศที่มีการระบาดและภายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์มีพาหะนำโรคคือค้างคาวผลไม้ที่พบในไทยด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนตระหนักและป้องกันตนเอง แต่อย่าตระหนกตกใจ
ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคดังกล่าวจากค้างคาวผลไม้ หรือสัตว์อื่นๆจะขึ้นอยู่กับการสัมผัสใกล้ชิดของพาหะนำโรค เช่น เลือด มูลของสัตว์ หรือน้ำลาย หากประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อในสารคัดหลั่งต่างๆ จะสามารถลดโอกาสต่อการเกิดโรคได้มาก องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำผู้ทีทำอาชีพเก็บน้ำตาลว่า การลดการปนเปื้อนจากสัตว์ที่จะมากินน้ำตาลด้วยการมีสิ่งปกคลุมที่ปากภาชนะและดอกมะพร้าว เช่น ผ้า หรือ แพไม้ไผ่ จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อได้ และก่อนรับประทานต้องมีการต้มให้เดือดก่อน เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคอื่นๆด้วย ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าขณะนี้ไทยยังไม่มีผู้ป่วยโรคดังกล่าว แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ เนื่องจากพบว่าค้างคาวผลไม้ที่พบในไทยมีความคล้ายคลึงกับที่อินเดีย ขณะนี้ก็ยังไม่พบการติดต่อจากสัตว์สู่คนในไทยแต่อย่างใด
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสในระยะใกล้ชิดกับค้างคาวและสารคัดหลั่งของสัตว์พาหะนำโรค ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ และสุกร ม้า แมว แพะ แกะที่รับเชื้อมาจากค้างคาวผลไม้ รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย มูลสัตว์หรือปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้ ไม่รับประทานผลไม้ที่ตกอยู่กับพื้น โดยเฉพาะที่มีรอยกัดแทะ และห้ามรับประทานเนื้อค้างคาว สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ล่าสุดพบผู้ป่วยยืนยันแล้ว 16 ราย ผู้ต้องสงสัยและรอผลยืนยันอีก 12 รายรวม 28 ราย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 14 ราย โดยขณะนี้มีความเสี่ยงต่อการป่วยตายสูงถึงร้อยละ 80 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ร่วมแสดงความคิดเห็น