“เจ้าฟ้ามหาชีวิต” เมืองเชียงตุง

ในอดีตราชสำนักเชียงตุงมีความเกี่ยวพันอย่างแน่นแฟ้นกับอาณาจักรล้านนาเชียงใหม่ เพราะพงศาวดารเชียงตุง ระบุว่าเมื่อราว 800 ปีก่อน พญามังราย กษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาได้ทรงจัดทัพมาขับไล่พวกลัวะซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่มีอิทธิพลอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาก่อน แล้วจึงส่งราชบุตรมาปกครองเมืองเชียงตุง ดังนั้นกษัตริย์ผู้ครองนครเชียงตุงในยุคต่อมาจึงสืบทอดเชื้อสายมาจากราชวงศ์มังราย ซึ่งกษัตริย์เชื้อสายราชวงศ์มังรายปกครองเมืองเชียงตุงมานานถึง 48 พระองค์
ความสัมพันธ์ของเจ้าฟ้าเชียงตุงกับเจ้าหลวงล้านนายังคงดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา โดยเฉพาะในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ราชสำนักเชียงตุงกับเชียงใหม่ มีความเกี่ยวดองทางเครือญาติกันยิ่งขึ้นเมื่อมีราชตระกูลของทั้งสองฝ่ายทำการอภิเษกสมรสกัน เช่น เจ้าอินทนนท์ ราชบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายสมรสกับเจ้านางสุคันธา ราชธิดาของเจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุง และเจ้าหญิงทิพวรรณ ณ ลำปางทรงสมรสกับเจ้าพรหมลือ ราชบุตรของเจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของราชตระกูลทั้งสองในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยลบเลือนลงไปได้เลย
ยุครุ่งเรืองของการปกครองในระบบเจ้าฟ้าเชียงตุงถึงขีดสูงสุดเมื่อราว 150 ปีก่อน ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของเจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งพระองค์ทรงครองราชสมบัติอยู่ในช่วงที่มหาอำนาจทางยุโรปกำลังขยายอำนาจล่าอาณานิคม ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ของไทย เจ้าฟ้าของชาวเชียงตุงพระองค์นี้ทรงมีพระปรีชาสามารถและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับเมืองเชียงตุงเป็นอย่างมาก

ในปี พ.ศ.2450 หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับจากการประชุมร่วมกับอังกฤษที่ประเทศอินเดียแล้ว พระองค์ได้สร้างพระราชวังหลวง หรือ “หอหลวง” ด้วยสถาปัตยกรรมแบบอินเดียผสมกับยุโรปขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นหอหลวงที่ใหญ่โตและสง่างามยิ่ง แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองการเมืองในพม่าเกิดความระส่ำ เกิดความขัดแย้งและความสับสนในการเจรจาเรื่องเอกราชกับอังกฤษทำให้เชียงตุงและรัฐฉานกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า และรัฐบาลทหารเผด็จการพม่าต้องการรวมอำนาจการปกครองให้ขึ้นตรงกับพม่า ทำการขุดรากถอนโคนทำลายระบบเจ้าฟ้าในหัวเมืองต่าง ๆ ของพม่า ด้วยเหตุนี้พระราชวังหลวง หรือ หอหลวงเชียงตุง จึงถูกทุบทิ้งด้วยเหตุผลทางด้านการท่องเที่ยวที่พม่ากำลังจะเปิดประเทศออกสู่สายตาชาวโลก ซึ่งเหตุผลของการทุบทิ้งหอหลวงเมืองเชียงตุง เพียงเพราะพม่าต้องการพื้นที่ใช้สร้างโรงแรม
ราชสำนักเชียงตุงที่มีกษัตริย์สืบทอดราชบังลังก์ต่อเนื่องยาวนานถึง 48 พระองค์นานกว่า 800 ปีก็ถึงกาลล่มสลาย ชาวไทขึนในเชียงตุงและชาวไทใหญ่ในรัฐฉานจึงมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยและพลเมืองชั้นสอง ถูกปิดกั้นทางเสรีภาพทางการเมือง อย่างไรก็ตามด้วยความผูกพันต่อระบบกษัตริย์ที่ฝังรากลึกมายาวนานทำให้ชาวไทขึนแห่งเชียงตุงมิอาจแยกความเป็น “บ่าวและเจ้า” ออกจากวิถีชีวิตได้ ทุก ๆ ปีในช่วงวันสงกรานต์บรรดาลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ครองนครจะทำการปัดกวาดเช็ดถูกู่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าเชียงตุงซึ่งตั้งอยู่กลางเมือง
สุสานของเจ้าฟ้าเชียงตุงที่นี่ เป็นกู่บรรจุอัฐิเฉพาะเจ้าฟ้าที่เป็นผู้ชายเท่านั้น องค์แรกเป็นของเจ้ามหาขนาน ประสูติเมื่อ วันเสาร์แรม 7 ค่ำเดือน 10 จ.ศ.1143 ครองราชย์เมื่อปี จ.ศ.1175 สวรรคตเมื่อปี จ.ศ.1219 ส่วนองค์ที่สองเป็นของเจ้ามหาพรหม ลูกชายของเจ้ามหาขนาน องค์ที่สามเป็นของเจ้าน้อยแก้ว ซึ่งประสูติเมื่อปี จ.ศ.1180 ครองราชย์ได้ปีเดียวเมื่อปี จ.ศ.1238 และสวรรคตในปี จ.ศ.1239 กู่บรรจุอัฐิองค์ที่ 4 เป็นของเจ้าฟ้าเจียงแข็งหรือเจ้ากองไต ลูกชาของเจ้ามหาขนาน องค์ที่ 5 เป็นของเจ้ากองคำฟู ลูกชายของเจ้ากองไต ประสูตเมื่อปี จ.ศ.1236 ครองราชย์ในปี จ.ศ.1248 สวรรคตปี จ.ศ.1257 องค์ที่ 6 เป็นของเจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง น้องเจ้ากองคำฟู เป็นกู่ที่สร้างขึ้นได้สวยงามซึ่งสร้างโดยช่างชาวอินเดีย องค์ที่ 7 เป็นของเจ้ากองไต ลูกของเจ้ารัตนก้อนแก้ว ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต องค์ที่ 8 เจ้าพรหมลือ น้องเจ้ากองไต ส่วนองค์สุดท้ายเป็นของเจ้าจายหลง ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าลำดับที่ 48 พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์มังราย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลพม่าได้เปิดเชียงตุงออกสู่สายตาคนภายนอกอีกครั้ง ทำให้เมืองแห่งนี้ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในฐานะของดินแดนซึ่งครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองไพบูลย์ด้วยระบบกษัตริย์ มีผู้คนจำนวนมากต่างใฝ่ฝันที่จะได้เดินทางเข้ามาเยือนเมืองแห่ง “อุดมคติ” ที่มั่งคั่งด้วยพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น