723 ปี เมืองเชียงใหม่ จัดพิธีทำบุญสืบชะตายิ่งใหญ่ 10 จุด ทั่วเมือง

เมื่อเวลา 09.39 น.วันที่ 7 มิ.ย.61 ที่บริเวณลานพระบรมราชาอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานนำคณะ จนท. หน.หน่วยงานราชการ รวมถึงประชาชน ร่วมกันทำพิธีบุญสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ ประจำปี 2561 ที่จัดขึ้น ทั้ง 10 หน่วยพิธี ได้แก่ หน่วยพิธีกลางเวียงเชียงใหม่ ( พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์) หน่วยพิธีประตูท่าแพ หน่วยพิธีประตูเชียงใหม่ หน่วยพิธีประตูสวนปรุง หน่วยพิธีประตูสวนดอก หน่วยพิธีประตูช้างเผือก หน่วยพิธีแจ่ง กู่เฮือง หน่วยพิธีแจ่งหัวลิน หน่วยพิธีแจ่งศรีภูมิ หน่วยพิธีแจ่งกะต้ำ ซึ่งประเพณีดังกล่าวได้ยึดตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณของชาวล้านนา ที่ถือว่าพิธีการสืบชะตา เป็นการต่ออายุให้ยืนยาว ช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เสริมสิริมงคลทำให้ประชาชนชาวเชียงใหม่อยู่เย็นเป็นสุข
อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อที่ดีงามให้คงอยู่สืบไป ทั้งนี้ภายในการจัดพิธีในปีนี้ได้มีการนำช้างจากปางช้างแม่สา จำนวน 2 เชือก มาแสดงความสามารถในการวาดรูป “ต้นรวงผึ้ง” ต้นไม้ประจำพระองค์ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พร้อมทั้งมีพธีกรรมทางศาสนาและการจุดพลุ มีข้าราชการ ประชนชน สื่อมวลชน เข้าร่วมพิธี เป็นจำนวนมาก
โดยทุกปีหลังจากที่เมืองเชียงใหม่ ได้ทำพิธีบูชาเสาอินทขีล หรือ ประเพณีใส่ขันดอกเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการทำพิธีสืบชะตาเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวเมือง และยังถือว่าพิธีสืบชะตาเมืองเป็นประ เพณีเก่าแก่ที่ชาวเชียงใหม่ กระทำสืบทอดกันมาช้านานความเชื่อแต่โบราณ ว่าการเกิดเมืองหรือการสร้างเมืองนั้น จะสร้างตามฤกษ์ยามและกำหนดสถานที่มหามงคลต่าง ๆ ไว้ ซึ่งในอดีตนั้นได้กำหนดสถานที่มงคลไว้คือ ประตูเมือง,แจ่งเมือง และบริเวณกลางเมืองหรือสะดือเมือง ให้มีความสอดคล้องกับชัยภูมิ
การวางผังเมืองและความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ โดยได้ยึดถือ คัมภีร์มหาทักษา ซึ่งจะประกอบตามทิศของแผนภูมินคร อันประกอบด้วยบริวารเมือง อายุเมือง เดชเมือง ศรีเมือง มูลเมือง อุตสาหเมือง มนตรีเมืองและกาลกิณีเมือง นับตั้งแต่มีการสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1839 เป็นต้นมา เจ้าผู้ครองนครและไพร่ฟ้าประชาชน จะร่วมกันทำพิธีสืบชะตาเมือง อันเป็นพระราชพิธีต่ออายุเมือง ให้ยืนยงคงอยู่และสร้างความสุขสมบูรณ์แก่อาณาประชาราษฏร์
สำหรับการทำพิธีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ เป็นการทำพิธีตามความเชื่อของชาวล้านนา เป็นพิธีที่จัดทำขึ้นเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง เพราะบางครั้งเห็นว่าบ้านเมืองเกิดความเดือดร้อน จากอิทธิพลของดาวพระเคราะห์มาเบียดบัง ทำให้เมืองเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายเพราะการจลาจล การศึกและเกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชนในเมือง ดังนั้นจึงต้องทำพิธีสืบชะตาเมืองขึ้น ในคัมภีร์สืบชะตาเมืองเชียงใหม่นั้น ยังระบุถึงการเตรียมพิธีสืบชะตาเมืองด้วย เช่นกล่าวถึงการนิมนต์พระสงฆ์จำนวนเท่าอายุของเมืองมาสวดมนต์
การนิมนต์พระพุทธรูปแก้วเสตังคมณี จากวัดเชียงมั่นเข้าร่วมพิธี ฯลฯ ซึ่งการทำพิธีสืบชะตาเมืองเชียง ใหม่นั้น จะเห็นได้ถึงความศรัทธาและความสามัคคีของชาวบ้านในการออกมาร่วมทำบุญ ซึ่งนอกเหนือจากความสามัคคีแล้ว สิ่งหนึ่งที่แฝงมาด้วยก็คือ ความเชื่อในเรื่องพิธีกรรมที่สามารถบันดาลให้เกิดความสุขทางใจขึ้น โดยความเชื่อเหล่านี้ จะเกี่ยวเนื่องกับหลักธรรมทางศาสนา เป็นประหนึ่งแสงสว่างที่ส่องให้พุทธศาสนิกชนก้าวตามรอย ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง ชี้แนะเอาไว้เมื่อกว่า 2,500 กว่าปีที่แล้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น