บ้านโบราณที่ “กาดกองต้า” เมืองลำปาง

เมืองลำปางอาจเรียกได้ว่าเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางการค้า อันดับ 2 รองจากเชียงใหม่ เพราะนับตั้งแต่อดีตก่อนที่จะมีการสร้างทางรถไฟสินค้าต่าง ๆ ที่มาจากทางเรือจะมาขึ้นท่าที่จังหวัดลำปาง ก่อนที่จะขนถ่ายโดยใช้วัวเทียมไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน
สินค้าจากทางเรือที่เดินทางมาจากกรุงเทพบนเส้นทางแม่น้ำวัง จากทางใต้ได้แก่ ฝ้าย ผ้าฝ้าย น้ำมันก๊าด เทียนไข ไม้ขีดไฟ บุหรี่ เกลือทะเล เป็นต้น ระหว่างปี พ.ศ.2413-2440 มีบันทึกการเดินทางของ โฮลท์ ฮอลด์เล็ท ระบุว่าในรอบ 1 ปีมีปริมาณการค้าระหว่างเชียงใหม่กับเมืองอื่น ๆ คือการค้าระหว่างมณฑลยูนนานของจีนตอนใต้ และเชียงใหม่ ใช้วัวต่าง ม้าต่างและลาต่างราว 700 – 1,000 ตัว
การค้าระหว่างเชียงตุงและรัฐฉาน เชียงรุ่งและเชียงใหม่ ใช้วัวต่าง ม้าต่าง ลาต่าง 7,000 – 8,000 ตัว
การค้าระหว่างเชียงใหม่กับละกอน(ลำปาง) ใช้วัวต่างประมาณ 500 – 600 ตัว
การขนสินค้าระหว่างเชียงแสนกับเชียงใหม่ ใช้ช้างประมาณ 1,000 เชือก
การค้าระหว่างเชียงใหม่กับหลวงพระบาง ใช้ลูกหาบประมาณ 5,000 คน
การค้าระหว่างเชียงใหม่กับพม่า ใช้ลูกหาบประมาณ 4,000 คน
แหล่งชุมชนการค้าทางเรือที่มีความสำคัญในอดีตของลำปาง ได้แก่ ชุนชนการค้าบริเวณย่านตลาดจีนเก่า หรือ “กาดกองต้า” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนตลาดเก่าริมฝั่งแม่น้ำวัง เคยเป็นตลาดขายสินค้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีความคึกคักมากที่สุดในยุคของเจ้านรนันชัยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง ระหว่างปี พ.ศ.2430 – 2440 ความสำคัญของกาดกองต้านอกจากเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าแล้ว ในอดีตที่แห่งนี้ยังเป็นท่าสำหรับล่องไม้สักลงไปขายที่จังหวัดนครสรรค์อีกด้วย

ชุนชนที่เข้ามาทำธุรกิจ การทำไม้และค้าขายในสมัยนั้นได้แก่ ชาวอังกฤษ พม่า อินเดีย และชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของที่นี่ ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “ตลาดจีน” และเนื่องจากบริเวณย่านนี้มีคนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ อาคารบ้านเรือนที่ปลูกจึงมีสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างยุโรป พม่า จีน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปางที่มีมานานกว่า 100 ปี
อาคารสำคัญที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของย่านตลาดจีน ได้แก่ อาคารพานิชสีแดง อาคารหม่องหงิ่วสิ่น อาคารกวงฮั่วหลีเก่า ร้านบุญส่งและบ้านแม่แดง เป็นต้น
จะเห็นว่า การที่ชุมชนชาวจีนบริเวณกาดกองต้า ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำวังจึงมีโอกาสที่จะติดต่อเชื่อมโยงกับชุมชนการค้าอื่น ๆ ทั้งใกล้และไกลออกไป ดังกล่าวข้างต้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีผู้คนเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและตั้งถิ่นฐาน หลายเชื้อชาติ หมายภาษา รัฐบาลกรุงเทพฯจึงได้ให้ความสำคัญกับเชียงใหม่มากกว่าหัวเมืองอื่นในล้านนา เพื่อควบคุมดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือหรือหัวเมืองล้านนาทั้งหมดอีกด้วย

ปัจจุบัน ย่านตลาดจีนหรือกาดกองต้า ยังคงกลิ่นอายมนต์เสน่ห์แห่งการค้าริมฝั่งแม่น้ำวังเอาไว้ แม้ว่าจะไม่คึกคักเหมือนแต่เก่า ทว่าอาคารต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงได้รับการอนุรักษ์รักษาเป็นอย่างดีรวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนยังคงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวพากันเข้ามาเยือนชุมชนแห่งการค้าตลาดจีนเก่าเป็นจำนวนมาก

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น