ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มช.จัดกิจกรรม ล้านนา เล่าว่า… ควรค่าม้ามีเรื่องเล่า”

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมล้านนา เล่าว่า… ควรค่าม้ามีเรื่องเล่า”ภายใต้โครงการ “ล้านนา เล่าว่า…”โดยมีนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ในวันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2561 ณ ชุมชนควรค่าม้าสามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ดร.กรวรรณ สังขกร หัวหน้าศูนย์วิจัย และพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เมืองเชียงใหม่ถือเป็นศูนย์กลางการพัฒนาของภูมิภาค และมีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญระดับโลก ด้วยเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน มีประเพณี วิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงาม และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นซึ่งสืบทอดกันมาแต่อดีต แหล่งท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ส่วนมากล้วนแต่เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรแก่การศึกษาเที่ยวชมอย่างมาก

ในอดีต สมัยพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่เพื่อให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาอันยิ่งใหญ่ พระองค์ได้สร้างแนวกำแพงเมืองเชียงใหม่ หรือกำแพงเวียงเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกำแพงเมืองชั้นในของเมืองเชียงใหม่ โดยการขุดคูน้ำหรือที่ปัจจุบันเรียกันว่า คูเมือง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ซึ่งมีความยาวด้านละประมาณ 1.63 กิโลเมตร และนำดินที่ได้จากการขุดคูนั้นไปถมเป็นแนวกำแพงเมืองและก่ออิฐขนาบทั้ง 2 ด้าน มีมุมหรือแจ่ง 4 มุม ได้แก่ แจ่งสลีภูมิ แจ่งก๊ะต้ำ แจ่งกู่เฮือง และแจ่งหัวลิน ซึ่งถือเป็นป้อมปราการของเมืองเชียงใหม่ในอดีต กำแพงเมืองและคูเมืองเชียงใหม่นี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในปีพ.ศ.2478

ปัจจุบัน ภายในพื้นที่สี่เหลี่ยมกำแพงเมืองนั้น ถูกเรียกว่า ย่านเมืองเก่า ซึ่งมีชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และได้รวมตัวกันเป็นชุมชนต่าง ๆ แต่ละชุมชนก็ต่างมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป หนึ่งในนั้นคือ ชุมชนควรค่าม้า ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้มีการริเริ่มกิจกรรมที่ชื่อว่า “เตวแอ่วเวียง” หรือการเดินเที่ยวเมืองเชียงใหม่ โดยประธานชุมชนและคนในชุมชนต่างพร้อมใจกันดำเนินการและพัฒนากิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง

เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงงานศิลปะของชาวล้านนาให้แก่นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมและได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนอย่างใกล้ชิด ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชม อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอันสวยงามภายในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ และปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่รู้จักรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมของตนเองอีกด้วย

ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นความสำคัญของชุมชนดั้งเดิมในย่านเมืองเก่านี้ ซึ่งมีแนวทางการจัดการชุมชนและการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ

จึงได้จัดให้มีกิจกรรม “ล้านนา เล่าว่า … ควรค่าม้ามีเรื่องเล่า” ขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชน ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเขตภาคเหนือตอนบน และเชื่อมโยงการตลาดท่องเที่ยวกับผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งเพื่อสนับสนุนให้เกิดความรักและหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาวล้านนาอย่างยั่งยืน
คาดว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรม จะเกิดการรับรู้ถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์ชาวล้านนามากขึ้น เกิดการพัฒนาทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนา มีการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิด และประสบการณ์ระหว่างคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เพื่อนำไปสู่การจัดการและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเขตภาคเหนือตอนบนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และเกิดความตระหนักในคุณค่าของเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวล้านนาเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมล้านนาจำนวน 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 ทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน ชื่อว่า”เตวแอ่วเวียง”หรือการเดินเที่ยวเมืองเชียงใหม่ โดย นักท่องเที่ยวจำนวน 40 คน เดินทางจากไปยังแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน4 แห่ง ได้แก่ วัดหัวข่วง วัดหม้อคำตวง วัดควรค่าม้า และวัดเทพมณเฑียร

และกิจกรรมที่ 2 เวทีเสาวนาภายใต้หัวข้อ “ล้านนา เล่าว่า…ควรค่าม้ามีเรื่องเล่า” โดยเชิญประธานชุมชนควรค่าม้า ผู้ประกอบการที่พักในพื้นที่ ศิลปินที่วาดภาพ Street art และเครือข่าย เขียว สวย หอม
กิจกรรมที่ 3 ถนนท่องเที่ยวชุมชนควรค่าม้า โดยให้คนในชุมชนนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาจัดแสดงและจำหน่าย รวมทั้งให้หน่วยงานต่าง ๆ ออกบูธเพื่อแสดงและนำเสนอผลงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับล้านนา พร้อมทั้งมีการแสดงดนตรีและแสดงการเพ้นท์กำแพง (Graffiti)

ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงงานศิลปะของชาวล้านนาให้แก่นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมและสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนอย่างใกล้ชิดถือเป็นการเปิดประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเที่ยวชม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า300คน คาดหวังว่าจะให้เกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้กับชุมชนใกล้เคียงเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันของแหล่งท่องเที่ยวในเขต”ย่านเมืองเก่า”ซึ่งจะเป็นการสร้างจุดแข็งของการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น