ย้อนกาลเวลาที่เมืองโบราณ “เกียวโต”

จะว่าไปแล้วการเดินทางท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถอยู่ในประเทศญี่ปุ่นได้นานถึง 15 วัน จึงทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยพากันเดินทางเข้าไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นปีละหลายแสนคน และยิ่งสายการบินต่างๆ พากันลดราคาตั๋วเครื่องบินและออกโปรโมชั่นชนิดที่เรียกว่า ถูกแสนถูก ซึ่งส่งผลดีต่อนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก การเดินทางเข้าออกประเทศญี่ปุ่นจึงป็นเรื่องง่าย และใครก็สามารถไปเที่ยวได้การท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นสามารถเดินทางไปได้ทั่วทั้งเกาะ อันได้แก่ เกาะฮอกไกโด เกาะขนาดใหญ่ที่อยู่เหนือสุดของประเทศ ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีอากาศหนาวตลอดทั้งปี ในช่วงฤดูหนาวฮอกไกโดมีอุณหภูมิเฉลี่ยติดลบ ขณะที่ในฤดูร้อนมีอุณหภูมิประมาณ 12-14 องศาเซลเซียส ส่วนเกาะฮอนชู ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่เชื่อมต่อระหว่างทิศเหนือสู่ทิศใต้ เป็นเกาะที่ได้รับความนิยมท่องเที่ยวมากที่สุดเพราะประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ อันหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เมืองโบราณ เมืองแห่งความศิวิไลท์ ตลอดจนถึงเมืองพักผ่อนริมทะเล ดังนั้นการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น จึงมักเริ่มต้นกันที่เกาะฮอนชูแห่งนี้ อันเปรียบเสมือนเป็นภาคกลางของญี่ปุ่น แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่หลงใหลในวัฒนธรรม ธรรมชาติ ขนบประเพณีอันถือเป็นเอกลักษณ์ของคนญี่ปุ่นแท้แล้วนั้น ต้องเดินทางย้อนกาลเวลาไปที่เมือง “เกียวโต” (Kyoto)ชื่อเกียวโต หรือ เคียวโตะ มาจากคำในภาษาญี่ปุ่นคือ “เคียว” และ “มิยะโกะ” บางครั้งก็ถูกเรียกรวมว่า “เคียวโนะมิยะโกะ” ต่อมาในศตวรรษที่ 11 ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เคียวโตะ ซึ่งมีความหมายว่า เมืองหลวง แต่หลังจากที่เมืองเอะโดะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียว มีความหมายว่า “เมืองหลวงตะวันออก” ในปี ค.ศ.1868 เมืองเคียวโตะก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ไซเกียว มีความหมายว่า “เมืองหลวงตะวันตก” ก่อนจะเปลี่ยนกลับมาเป็น เคียวโตะ ในเวลาต่อมา

เกียวโต (Kyoto) เคยเป็นอดีตเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่นมาก่อน ในช่วงศตวรรษที่ 8 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเฮอังในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามแม้ว่าภายหลัง รัฐบาลทหารจะตั้งเมืองอื่นๆเป็นศูนย์กลางทางอำนาจการปกครองที่ไม่ใช่เคียวโตะ (รัฐบาลโชกุนมุโระมะชิ) เช่น คะมะกุระ (โดยรัฐบาลโชกุนคะมะกุระ) หรือ เอะโดะ (โดยรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ) แต่โดยความรู้สึกของคนญี่ปุ่นแล้ว นครหลวงของญี่ปุ่นยังคงเป็นเคียวโตะ อันเป็นนครที่พระจักรพรรดิทรงประทับอยู่ จนถึง ค.ศ.1869 ก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงโตเกียวในปัจจุบันเกียวโตได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เนื่องด้วยเมืองแห่งนี้อบอวลไปด้วยวัฒนธรรม วิถีชีวิตรวมถึงธรรมชาติอันสวยงาม ดังนั้นการท่องเที่ยวในเมืองโบราณอย่างเกียวโตนั้น จึงหลีกหนีไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ และควรมีเวลาอย่างน้อย 2 – 3 วัน เพราะเกียวโตมีที่เที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัด ศาลเจ้า ปราสาท และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ดังนั้นการเดินทางในเกียวโตจึงต้องเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางเป็นหลัก เมื่อมาถึงสถานีรถไฟเกียวโต (Kyoto Station) นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อซื้อบัตรโดยสารรถประจำทาง (Kyoto Bus Navi pass) ได้ที่บริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟ ในราคา 1 วัน 500 เยน ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้รับแผนที่ในเมืองเกียวโตพร้อมเส้นทางเดินรถประจำทางแต่ละสาย

สถานที่แรกๆที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยือนในเกียวโตนั้น ได้แก่ วัดคิโยะมิสึ (KiyomiZu)หรือ “วัดน้ำใส” สร้างขึ้นในช่วงต้นยุคเฮอันประมาณปี ค.ศ.798 ส่วนสิ่งก่อสร้างที่เราเห็นในปัจจุบันนั้น สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1633 ตามคำสั่งของโชกุนโทะกุงะวะ เอมิสึ (Tokugawa lemitsu) ชื่อวัดคิโยะมิสึ แปลว่า น้ำใส เมื่อเข้ามาในบริเวณกลางห้องโถงมีลานระเบียงที่รองรับด้วยเสาไม้ขนาดใหญ่ จากระเบียงที่ยื่นออกมาทำให้สามารถมองเห็นวิวของเมืองได้อย่างสวยงาม มีเรื่องเล่าในสมัยเอโดะของญี่ปุ่นว่าถ้าใครกระโดดระเบียงสูง 13 เมตรที่วัดคิโยะมิสึแล้วรอดมาได้ ความปรารถนาจะเป็นจริง ซึ่งจากสถิติที่มาการบันทึกไว้ 234 ครั้ง ในยุคเอโดะ พบว่า 85.4% รอดชีวิตจากการกระโดดระเบียง ปัจจุบันนี้ได้ห้ามไม่ให้มีการกระโดดระเบียงอีกแล้ว ในบริเวณด้านล่างของวัดคิโยะมิสึ มีน้ำตกสามสายไหลลงมาที่สระน้ำ ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อดื่มแล้วจะทำให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนาไว้นอกจากนี้ ในบริเวณวัดยังมีศาลเจ้าจินชู (Jinshu Shrine) ที่สร้างไว้สำหรับเทพเจ้าแห่งคู่รัก ในศาลเจ้าจะมีหินแห่งคู่รัก 2 ก้อน ตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 6 เมตร ถ้าคนไม่มีคู่สามารถเดินหลับตาจากหินก้อนหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่งได้ก็จะเจอคู่แท้ คู่รักบางคู่ก็มาพบรักแท้กันที่นี่ ก่อนถึงทางเข้าวัดคิโคะมิสึมีถนนสายหนึ่งซึ่งคนเกียวโตจะนุ่งกิโมโนเดินทางไปยังวัดคิโยะมิสึ ถนนสายนี้เรียกว่า “ถนนสายกาน้ำชา” นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกและหาซื้อของฝากเป็นจำนวนมาก
จากวัดคิโยะมิสึ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกียวโตจะต้องไม่พลาดไปเยือนอาราชิยามา (Arashiyama) ว่ากันว่าเป็นสถานที่สุดแสนจะโรแนติกที่สุดในเกียวโต โดยเฉพาะในช่วงใบไม้เปลี่ยนสีระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน การเดินทางไปอาราชิยามา เริ่มต้นที่สถานีรถไฟเกียวโตนั่งรถไฟสาย JR ไปลงที่สถานีซากะอาราชิยามา (Saga Arashiyama) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที แล้วต่อรถไฟสาย Sagano Romantic Train ที่สถานีรถไฟ Trokko Saga ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสถานีซากะอาราชิยามา ใช้เวลาเดินทางไปกลับประมาณ 40 นาทีค่าโดยสารคนละ 600 เยน เส้นทาง Sagano Romantic Train นับว่าเป็นทางรถไฟที่สวยงามเลียบลัดเลาะไปตามแม่น้ำโฮซู (Hozu River) ในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสีทางสายนี้จะสวยสดไปด้วยสีสันของใบไม้อวดโฉมกันเต็มทั้งภูเขา เมื่อมาถึงสถานีรถไฟ Trokko Arashiyama นักท่องเที่ยวจะต้องลงที่สถานีนี้ เพื่อเดินขึ้นไปเที่ยวชมป่าไผ่ซะงะโนะ (Bamboo Path) จากเส้นทางนี้สามารถเดินต่อไปทะลุยังวัดเท็นเร็นจิ (Tenryu-ji) และยังเดินต่อไปจนถึงสะพานโทเง็นสึเคียว (Togetsu-kyo) ข้ามแม่น้ำคัตซูระ (Katsura River) ตลอดสองข้ามทางจะเต็มไปด้วยร้านรวงจำหน่ายสินค้าทั้งของที่ระลึกรวมถึงของกิน

ในเกียวโตนอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและศาลเจ้าแล้ว ย่านแสงสีของเกียวโตที่คร่าคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวคงหนีไม่พ้น กิออน (Gion) ซึ่งเป็นย่านราตรีของเกียวโตที่จะสามารถเห็นเกอิชาเดินไปมาในบริเวณนี้ได้ ย่านกิออนตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคาโมะ (Kamo River) สุดปลายถนนเป็นที่ตั้งศาลเจ้ายาซากะ (Yasaka Shrine) หรือศาลเจ้ากิออน (Gion Shrine) เป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1199 ศาลเจ้ายาซากะนี้มีชื่อเสียงอย่างมากในการจัดเทศกาลเฉลิมฉลองกิออนมัทซูริ (Gion Matsuri) ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี

ถนนสองฝั่งของกิออนจะเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านดื่มชา และร้านอาหารมากมาย ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีการแสดงการชงชาจากเกอิโกะ (Geiko) และไมโกะ (Maiko) ที่สวยงามและเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว ในย่านนี้อาคารบ้านเรือนจะเป็นอาคารไม้แบบดั่งเดิมของญี่ปุ่นแต่ละหลังจะมีขนาดไม่ใหญ่มากกว้างประมาณ 5-6 เมตร ส่วนถนนที่มีสีสันและคนพลุกพล่านอีกเส้นหนึ่งคือ ถนนฮานามิ-โคจิ (Hanami-Koji) เป็นเส้นที่อยู่ระหว่างถนนชิโจและวัดเคนนินจิ (Kenninji) ร้านอาหารและร้านชาโดยมากที่อยู่ในเส้นนี้ราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากในระหว่างที่กำลังรับประทานอาหารนั้นจะมีการแสดงโชว์ศิลปะญี่ปุ่น ได้แก่การร่ายรำ การชงชา นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรีและเพลงญี่ปุ่นดั่งเดิมบรรเลงให้ฟังด้วย

จากเกียวโตถ้ามุ่งหน้าลงใต้ไม่ไกลนัก มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวทางเดินทางมาเป็นจำนวนมากนั่นคือ ศาลเจ้าฟูชิมิ อินะริ (Fushimi inari Shrine) เดินทางโดยรถไฟสาย JR nara Line จากสถานีเกียวโต (Kyoto Station) ประมาณ 2 สถานีไปลงที่สถานี Inari Station ใช้เวลาเดินทาง 8 นาที สถานีรถไฟจะอยู่ตรงข้ามกับทางเข้าศาลเจ้าหาไม่ยาก เมื่อเดินทางเข้าไปยังศาลเจ้าฟูชิมิ อินะริ จะเห็นเสาโทะริอิสีแดงขนาดใหญ่ตั้งอยู่ปากทางเข้า เดินไปตามเส้นทางนี้จนถึงศาลเจ้า

ศาลเจ้าฟูชิมิ อินะริ เป็นศาลเจ้าชินโต (Shinto) ของเทพอินะริ อันเป็นเทพแห่งกสิกรรม ตั้งอยู่ในเขตฟูชิมิ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกียวโต ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ยุคโบราณชาวญี่ปุ่นนับถือเทพอินะริในด้านการอุปถัมภ์ค้ำชูและส่งเสริมความเจริญในการงานและกิจการ เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ การเก็บเกี่ยวข้าว รวมไปถึงพืชผลไร่นาต่างๆ และมีจิ้งจอกเป็นสัตว์คู่กาย ดังนั้นเราจึงสามารถพบเห็นรูปปั้นจิ้งจอกอยู่ในศาลเจ้ามากมาย ซึ่งความศรัทธานี้ยังคงส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน บรรดาเสาโทะริอิที่มากมายของศาลเจ้าแห่งนี้นั้น ล้วนเป็นศรัทธาจากบริษัท ห้างร้าน โรงงานในญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละต้นจะมีการจารึกชื่อผู้บริจาคไว้ ศาลเจ้าฟูชิมิ อินะริมีความเก่าแก่มาก สร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนสร้างเมืองเกียวโต คาดกันว่าจะเป็นช่วงประมาณปี ค.ศ.794 หรือกว่าพันปีมาแล้ว

ภายในศาลเจ้าฟูชิมิ อินะริ มีอาคารหลักที่เรียกว่า Honden และยังมีส่วนประกอบศาลเจ้าที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง กระจายกันอยู่รอบๆบริเวณ และทางด้านหลังศาลเจ้าจะเป็นทางเดินขึ้นเขา ที่เรียงรายไปด้วยเสาโทะริอิที่ยาวสุดลูกหูลูกตากลายเป็นมุมถ่ายรูปยอดนิยมของนักท่องเที่ยว เมื่อเดินตามอุโมงค์โทะริอิ ไปได้สักพักก็จะเจอทางแยกของประตูโทะริที่กั้นด้วยประตูใหญ่แล้วแยกย่อยเป็นประตูเล็กอีกทีหนึ่ง เดินไปได้ครึ่งทางก็จะพบกับจุดชเกียวมวิวโยสุซึจิ (Yotsutsuji) เป็นจุดที่มองเห็นเมืองเกียวโตในมุมที่สวยงามอีกมุมหนึ่ง

เกียวโตในวันเวลาของฤดูกาล ยังคงทำหน้าที่เป็นเสมือนกระจกสะท้อนภาพวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นในอดีต ด้วยความที่เป็นอดีตเมืองหลวงเก่าจึงทำให้เกียวโตเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองของญี่ปุ่นที่ยังมีสิ่งก่อสร้างในยุคก่อนสงครามหลงเหลืออยู่มากมาย เช่น บ้านโบราณที่รู้จักกันในชื่อ มะชิยะ (Mashiya) แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองก็กำลังทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของเกียวโตค่อยๆถูกสถาปัตยกรรมใหม่ๆกลืนหายไป แต่ด้วยสำนึกของคนญี่ปุ่นที่ได้ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่จึงทำให้ที่นี่ยังคงรักษาขนบประเพณีและวิถีชีวิตของคนเกียวโตเอาไว้อย่างเหนียวแน่น และดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาย้อนกาลเวลาที่ “เกียวโต”

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น