แอ่วหละปูน อิ่มบุญอุ่นรัก

เรื่องเล่าจากเมืองหริภุญชัย ปรากฏอยู่ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ว่า นานมาแล้วมีฤาษีองค์หนึ่งชื่อวาสุเทพ สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกวง ครั้นสร้างเมืองสำเร็จหาคนมาครองเมืองไม่ได้จึงส่งทูตพร้อมด้วยชายฉกรรจ์ 500 คนไปขอผู้ครองเมืองแก่กษัตริย์ลุวปุระ ทูตใช้เวลาเดินทาง 1 ปีกลับมาพร้อมอัญเชิญพระนางจัมมเทวีหรือพระนางจามเทวี พระธิดาของเจ้าเมืองลุวปุระหรือเมืองละโว้ที่กำลังทรงครรภ์ได้สามเดือนมาเป็นผู้ครองเมือง เมื่อพระนางจามเทวีรับการอภิเษกขึ้นเป็นเจ้าครองเมืองขณะนั้นเมืองยังไม่มีชื่อ ต่อมาชาวเมืองเรียกเมืองนี้ว่า “หริภุญชัย” โดยถือเอาตอนที่อัญเชิญพระนางจามเทวีขึ้นนั่งอภิเษกบนกองทองคำ ในภาษาบาลี หริ แปลว่า “ทองคำ”

การล่มสลายของอาณาจักรหริภุญชัย เกิดขึ้นเมื่อพระเจ้ายีบาเสียเมืองแก่พระขุนเม็งรายแห่งอาณาจักรล้านนา การถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมระหว่างสองอาณาจักรจึงเกิดขึ้น ปรากฏเป็นหลักฐานทางศิลปกรรมของหริภุญชัยอยู่ทั่วไปในอาณาจักรล้านนา ในกาลต่อมาอาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและในที่สุดก็กลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรสยาม มีผู้ครองนครสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของนครหริภุญชัยหรือลำพูนก็คือ พลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ.2475 เมืองนี้ก็มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งสืบมานับตั้งแต่นั้น

ท่องโบราณสถานเมืองหริภุญชัย วัดวาอารามมากมายในเมืองลำพูนตั้งอยูในระแวกใกล้ ๆ กัน คือแถบอำเภอเมืองหรือในดั้งเดิมก็คือบริเวณหริภุญไชยนคร ดังนั้นการเดินทางเที่ยวชมวัดและปูชนียสถานในลำพูนจึงเป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายของนักท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมประการหนึ่ง

วัดพระธาตุหริภุญชัย มีคำกล่าวชื่นชมถึงความวิจิตรอลังการของศิลปะเก่าแก่ เชื่อกันว่าสร้างมานานนับพันปี แต่เดิมสร้างเป็นแบบซุ้มมณฑป ครั้นต่อมามีการบูรณะปฏิสังขรณ์โดยสร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่ตามรูปแบบลังกาด้วยสมัยนั้นมีสัมพันธไมตรีแน่นแฟ้นกับลังกา รวมทั้งศิลปกรรมล้านนาไทยในสมัยนั้นก็ถ่ายทอดรูปแบบมาจากลังกา

ส่วนที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งของพระธาตุหริภุญชัยก็คือ พระเจดีย์นี้สร้างมาเป็นเวลานับพันปีก็ยังคงงดงามดังเดิม ไม่มีรอยผุร้าวหรือรอยตำหนิใด ๆ และเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนอยู่ไม่เสื่อมคลาย เดินทางจากตัวเมืองไปราว 1 กิโลเมตรจะถึงวัดพระยืน วัดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ทั้งยังเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของลำพูน และตามหลักฐานโบราณวัตถุต่าง ๆ ในวัดพระยืนปัจจุบันจึงสันนิษฐานได้เป็นอย่างแน่นอนว่าวัดอรัญญิการามและวัดพุทธอารามก็คือวัดพระยืนนี้เอง และเลยไปทางตะวันตกของตัวเมืองลำพูนเพียง 1 กิโลเมตรก็จะถึงวัดจามเทวี อันเป็นที่ตั้งของสถูปเจดีย์องค์หนึ่งชื่อว่า สุวรรณจังโกฏเจดีย์ซึ่งบรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี วัดจามเทวีมีชื่อเรียกสามัญว่า “วัดกู่กูด” เป็นวัดที่มีศิลปะงดงามตามแบบขอม

ส่วนลักษณะเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย ห่างจากลำพูนออกไปทางทิศใต้ประมาณ 20 กิโลเมตรในเขตอำเภอป่าซาง เป็นที่ตั้งของวัดพระพุทธบาทตากผ้า เล่ากันมาว่าค้นพบตั้งแต่สมัยแรกเมื่อพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนสุวรรณภูมิและได้เข้ามาถึงแดนล้านนาไทยพบรอยพระพุทธบาทนี้ ครั้นพระนาง
จามเทวีครองเมืองก็ได้สร้างอุโมงค์ครอบรอยพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธบูชา

วัดสำคัญในเมืองลำพูนยังมีอีกมากมาย วัดมหาวันวนาราม ต้นตำรับพระรอดหลวง วัดพระคงฤาษีหรือวัดอนันทรามอันมีพระคง เป็นพระเครื่องปางมารวิชัยที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองลำพูน นอกจากนั้นสิ่งสำคัญที่มีเรื่องเล่าว่าตกทอดมาตั้งแต่สมัยแห่งความรุ่งเรืองของหริภุญชัยนครในเมืองลำพูนนี้ได้แก่ กู่ช้างกู่ม้า อนุสาวรีย์สุเทวฤาษี พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญชัย อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี พระธาตุห้าดวงและบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์บนดอยขะม้อ ใช้สำหรับสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัยในงานเทศกาลแปดเป็งและน้ำในพิธีพุทธาภิเษกสำหรับพระมหากษัตริย์ไทย

วัดและปูชนียสถานเหล่านี้แม้จะไม่โดดเด่นมากนักในแง่ของการท่องเที่ยวตามนิยามของคนบางกลุ่ม หากแต่สำหรับผู้ที่ใฝ่หาการเข้าถึงรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมและชนชาติของตนแล้ว ลำพูนคือจังหวัดหนึ่งที่มีแต่สิ่งน่าชื่นชม เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวอย่างที่ยากจะหาจังหวัดใดเทียบได้

ลำพูนเป็นเมืองสำหรับผู้ที่รักในความสงบนุ่มนวลของศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่เรียบง่ายงดงาม สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในลำพูนมิใช่แค่ลำใยหวาน ทว่าชาวลำพูนอยากให้ผู้คนรู้จักพวกเขามากไปกว่านี้ ศิลปะการทอผ้าของลำพูนขึ้นชื่อในความงดงามของผ้าไหมยกดอก ที่ลวดลายวิจิตรงดงามสมกับเป็นผ้าทรงในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ความละเอียดอ่อนในฝีมือการทอผ้าของชาวลำพูนรวมไปถึงชาวเขาผู้มีน้ำอดน้ำทนในการทอผ้าทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย
นอกจากนั้นงานฝีมือด้านอื่น ๆ ในจังหวัดลำพูนก็มีทั้งการแกะสลักไม้ที่บ้านทา การสานหมวกใบลานและไม้ไผ่ซางที่บ้านเส็ง การผลิตเครื่องปั้นดินเผาและอีกมากมายที่เกิดจากภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ของชาวบ้าน ฝีมือท้องถิ่นที่น่าชื่นชม

ภาพท่องเที่ยวของลำพูนเมืองลำพูนอยู่ระหว่างลำปางและเชียงใหม่ เป็นเมืองเล็กมากแต่ว่าจุดสนใจที่โดดเด่นด้านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติใช่จะแห้งแล้ง หากแต่ไม่มีแรงดึงดูดผู้คนจำนวนมหาศาลดังเช่นจังหวัดข้างเคียง เป็นภาพของเมืองที่มีจุดสนใจทางวัฒนธรรมสูงมากกว่าความสงบงามตามธรรมชาติ นอกจากนั้นลำพูนยังมีอุทยานแห่งชาติดอยขุนตานในเขตอำเภอแม่ทา อุทยานแห่งชาติแม่ปิงในเขตอำเภอลี้ ถ้ำยางวี ถ้ำเอราวัณ อ่างเก็บน้ำพระราชดำริแม่เส้า ฯลฯ เหล่านี้ล้วนสร้างชื่อเสียงให้แก่ลำพูนเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกันพุทธศาสนาก็เข้ามามีความผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของชาวลำพูนอย่างแน่นแฟ้น งานศิลปกรรม ศิลปวัตถุที่สร้างขึ้นมาล้วนเพื่อศรัทธาในศาสนาอย่างเช่นงานประเพณีที่สำคัญคือ งานบุญสลากภัต งานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญไชยที่มีชาวบ้านเข้าร่วมกันมากมายทุกปีซึ่งแสดงถึงพลังศรัทธาในพุทธศาสนาที่ยังไม่เสื่อมคลายไปจากใจชาวบ้านถิ่นล้านนาไทยประเพณีแต่ละอย่างมีแก่นอยู่ในตัวเอง เป็นความคิดของชาวบ้านชาวเมืองที่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่กระทำไปโดยไร้ความหมาย ประเพณีแต่ละอย่างของลำพูนผูกพันร้อยรัดด้วยความศรัทธาอย่างเหนียวแน่นในพุทธศาสนา สิ่งนี้เองที่จะรักษาเอกลักษณ์ความเป็นชาวเมือง

ลำพูนให้คงความเป็นตัวเองต่อไป ไม่เพลี่ยงพล้ำให้แก่ความฉาบฉวยของสังคมเมืองไปอย่างง่ายดายนัก.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น