“คุ้มเจ้ายอดเรือน” บ้านโบราณเมืองลำพูน

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนล้านนานอกเหนือจากการดำรงชีวิตอันเงียบสงบเรียบง่ายแล้ว การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็ดูเหมือนมีความโดดเด่นไม่แพ้กัน ด้วยอาคารไม้ยกสูง ใต้ถุนโล่งของบ้านล้านนานี่เองทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมชิ้นเยี่ยมที่มาจากภูมิปัญญาของคนโบราณไม่ว่าจะเยื้องย่างไปทางไหน ก็สามารถพบเห็นบ้านเรือนโบราณล้านนา โดยเฉพาะชุมชนที่มีการตั้งบ้านแปงเรือนมาเมื่อราว 100 ปีก่อน เช่น ที่อำเภอดอยสะเก็ด สันป่าตอง สันกำแพง จึงมักคุ้นตากับบ้านไม้แบบล้านนา หรือที่เรียกว่า “เฮือนกาแล” ทว่าจะมีใครรู้ว่าชุมชนโบราณในจังหวัดลำพูนก็มีประวัติการก่อตั้งชุมชนที่มีความเก่าแก่พอ ๆ กับบางชุมชนในเชียงใหม่เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเราเดินทางเข้าเขตจังหวัดลำพูนจึงพบเห็นกลุ่มอาคารบ้านไม้แบบล้านนา แต่ว่าไม่เหมือนกันเสียทีเดียวกับบ้านทางเชียงใหม่
บ้านไม้โบราณในจังหวัดลำพูน ส่วนใหญ่สร้างขึ้นมาจากการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างของท้องถิ่นกับตะวันตก ซึ่งเข้ามาทำการค้าขายกับคนล้านนาและได้ทิ้งอิทธิพลไว้ในรูปแบบของอาคารบ้านเรือนไว้ในรายงานการสำรวจบ้านโบราณลำพูนของ ผศ.วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อครั้งจัดทำโครงการ “บ้านสวย ลำพูนเมืองน่าอยู่” และโครงการ “ลำพูนเมืองน่าอยู่ เชิดชูคุณธรรม” พบว่า บ้านโบราณเมืองลำพูนมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี สร้างประมาณปี พ.ศ.2460 ถึง พ.ศ.2507 ซึ่งถือว่าเป็น “เฮือนบ่าเก่า” หรือบ้านโบราณ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองหรือหมู่บ้าน เกาะกลุ่มเรียงตัวไปตามถนนระหว่างหมู่บ้าน การวางผังเรือนจะหันออกสู่ถนนและส่วนมากหันหน้าจั่วไปทางทิศเหนือ เรือนพื้นถิ่นจะแบ่งลักษณะการใช้สอยที่มีเติ๋นบ้างมีขนาดเท่ากับเรือนนอนบ้างมีขนาดยาวเท่ากับเรือนนอน หลังคามีทั้งแบบปั้นหยา จั่วแฝดและจั่วเดี่ยว โดยมากแล้วจะมีหลังคาคลุมบันไดหน้าชาน เรียกว่า หลังคาสตูป และมีเสารับหลังคาส่วนนี้ เสาลอยรับโครงสร้างหลังคาที่เรียกว่า เสาแหล่งหมา
ลักษณะสภาพแวดล้อมของบ้านจะมี ข่วง เป็นภาษาพื้นเมืองหมายถึงเนื้อที่ว่างหรือลานเดินกว้าง เป็นพื้นที่เชื่อมเส้นทางสัญจรหรือทางเดินเท้าเข้าสู่ตัวอาคารและกระจายไปสู่ลานในบ้านข้างเคียง ต๊อมอาบน้ำ หมายถึงห้องอาบน้ำสำหรับหญิงสาว ไม่มีหลังคาคลุม ตั้งอยู่ท้ายบ้านใกล้กับบริเวณบ่อน้ำ บ่อน้ำ มีที่ตั้งอยู่บริเวณที่มีแหล่งน้ำในดินที่มีคุณภาพ บริเวณรอบ ๆ บ่อน้ำจะปลูกต้นไม้ และสวน(เชิง)บันได เจ้าของบ้านนิยมปลูกไม้ดอกและไม้ประดับ และมีภาชนะใส่น้ำล้างเท้า องค์ประกอบ เติ๋น เป็นบริเวณห้องโถงกึ่งเปิดโล่ง ยกสูงระดับบ้านประมาณครึ่งเมตร เป็นบริเวณอเนกประสงค์ใช้กั้นฝาเต็มด้านเดียวหรือสองด้าน มีที่นั่งเล่นที่รับประทานอาหาร ที่รับแขก เป็นต้น และร้านน้ำ บริเวณชานโล่งหน้าบ้านหรือชานใต้ชายคา ตรงของริมชานบันไดด้านหนึ่งจะมีหิ้งสำหรับวางหม้อน้ำดื่มและทำหลังคาคลุมลักษณะคล้ายเรือนเล็ก ๆ เพื่อไม่ให้แสงแดดส่องหม้อน้ำเพื่อรักษาความเย็นของน้ำดื่มบ้านโบราณของเมืองลำพูนในปัจจุบัน เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง อาคารส่วนใหญ่มีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา ด้วยการเสื่อมสภาพของวัสดุและภัยธรรมชาติ พายุ ลูกเห็บ น้ำท่วม การซ่อมบำรุงใช้ทุนทรัพย์สูง ไม่สามารถหาวัสดุทดแทนจำพวกไม้โครงสร้าง ปูนก่อฉาบแบบโบราณ กระเบื้องมุงหลังคาแบบเดิม ลายฉลุต่าง ๆ และไม่สามารถหาช่างและแหล่งวัตถุดิบทดแทนได้ เรือนโบราณที่มีอายุ 70 – 80 ปี และมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดลำพูน ได้แก่ บ้านเจ้ายอดเรือน ณ ลำพูน สร้างเมื่อปี พ.ศ.2477 เป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วมนิลา ส่วนยอดและมุมตกแต่งด้วยสะระไน บ้านเจ้าหญิงยอดเรือนนี้เป็นบ้านทรงพื้นเมืองขนาดใหญ่ มีชานและเติ๋น นอกจากนั้นยังมีเรือนโบราณบนถนนท่านาง เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงปัจจุบันเป็นบ้านร้าง และเรือนโบราณบนถนนสันป่ายาง อีกหลายหลังอย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้บ้านโบราณในจังหวัดลำพูนลดน้อยลงเป็นเพราะถูกรื้อถอนไป เป็นอาคารไม้ยกใต้ถุนสูง ชำรุดผุพังจากกาลเวลา ภัยธรรมชาติ และไม่สามารถหาวัสดุพื้นถิ่นมาทดแทนซ่อมแซมได้ การดำรงชีวิตของผู้อยู่อาศัยเปลี่ยนไป เรือนพื้นถิ่นไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ความต้องการประโยชน์ใช้สอยอาคารเพิ่มเติม การดัดแปลงและต่อเติมอาคารเป็นสาเหตุทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไป นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไป การใช้สอยอาคารจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วย บ้านโบราณของเมืองลำพูนเป็นอาคารแบบเก่าไม่สามารถตอบสนองความเป็นอยู่แบบใหม่ได้ ทำให้เจ้าของอาคารส่วนใหญ่ที่เป็นทายาทของเจ้าของเดิม ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีชีวิตในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านโบราณของลำพูน แทบไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก หากพบเห็นก็อาจอยู่ในสภาพทรุดโทรม ดังนั้นเรือนที่อยู่อาศัยของคนล้านนาในจังหวัดลำพูนจึงมีคุณค่าสมควรที่จะมีการอนุรักษ์ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป
เอกสารประกอบ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง ,บ้านโบราณเมืองลำพูน จากโครงการศึกษา “บ้านสวย ลำพูนเมืองน่าอยู่” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น