13 หมูป่าอะคาเดมี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลใช้สิทธ์บัตรทองของ สปสช. ในการรักษาพยาบาลฟรี

ตามที่ท่านทราบว่าการช่วยเหลือทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมี” ที่ติดในถ้ำหลวง-ขนน้ำนางนอนจังหวัดเชียงราย นั้นเป็นการระดมสรรพกำลังจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั้งของไทยและต่างประเทศหลายคน หลายหน่วยงาน
สำหรับขั้นตอนในการช่วยเหลือนั้น ตามที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้กล่าวไว้นะครับว่า ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ “ค้นหา กู้ภัย และส่งกลับ” เมื่อ 2 ขั้นตอนคือ “ค้นหา และกู้ภัย” ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอน ”การส่งกลับ” เป็นหน้าที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จะต้องตรวจสอบสภาพร่างกาย จิตใจ โดยกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่า ในการรักษาพยาบาลนั้น ทั้ง 13 คนจะใช้ “บัตรทองหรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

วันนี้ ผมมีข้อมูลของการใช้สิทธิบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ท่านได้รับทราบโดยย่อ ดังนี้ครับ วิธีการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อเจ็บป่วยนั่นมี 2 กรณีคือ
“เจ็บป่วยทั่วไป, และเจ็บป่วยฉุกเฉิน”
1. กรณีเจ็บป่วยทั่วไป
– เข้ารับการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ลงทะเบียนไว้ ใกล้บ้าน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลอำเภอ ก่อนทุกครั้ง
– แจ้งความจำนงขอใช้สิทธิพร้อมแสดงหลักฐานประกอบ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ (เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ใช้สำเนาใบสูติบัตร (ใบเกิด))
หมายเหตุ : ปัจจุบันมีนโยบายใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว ทั้งนี้ ควรเข้ารับบริการในวัน เวลาราชการ หรือเวลาที่หน่วยบริการกำหนดไว้

2. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน
การวินิจฉัยว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉิน” นั้น แพทย์จะพิจารณาตามข้อบ่งชี้ ดังนี้
– โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายต่อผู้อื่น
– โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรง ต้องรักษาเป็นการเร่งด่วน
– โรคที่ต้องผ่าตัดด่วน หากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต
– โรคหรือลักษณะอาการของโรคที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณาจากความดันโลหิต ชีพจร อาการของโรค การวินิจฉัยโรค แนวทางการรักษาและความเร่งด่วน ในการรักษารวมทั้งคำนึงถึงการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่อการป่วยด้วย
แนวทางการใช้สิทธิ คือ
– เข้ารับการรักษากับหน่วยบริการของรัฐหรือเอกชนที่เข้าร่วมให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่อยู่ใกล้ที่สุด
– แจ้งความจำนงขอใช้สิทธิพร้อมแสดงหลักฐานประกอบ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ (เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ใช้สำเนาใบสูติบัตร (ใบเกิด))

หมายเหตุ :
กรณีฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการอื่นที่เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกเหนือหน่วยบริการประจำได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
ข้อมูล : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ร่วมแสดงความคิดเห็น