มาแน่!! รถไฟรางเบาเชียงใหม่ ใต้ดินผสมบนดิน งบ 8.6 หมื่นล้านบาท เปิดประมูลต้นปี 63

อีกประเด็นยืดเยื้อของ จ.เชียงใหม่ กับโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดที่มากขึ้นทุกขณะ ได้นำเสนอโครงการในขั้นตอนสุดท้ายกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา สรุปได้เลือกระบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Light Rail Transit System (LRT) โดยมี 2 ทางเลือกคือ แผน A ระบบรถไฟรางเบาใต้ดินผสมบนดิน และแผน B ระบบรถไฟรางเบาบนดิน โดยมีระบบรองและระบบเสริมคือ รถเมล์ ความคืบหน้าล่าสุด นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟรางเบา (Tram) จ.เชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาเสร็จแล้ว พร้อมสรุปเลือกแนวทางก่อสร้างตามที่แผน A ระบบรถไฟรางเบาใต้ดินผสมบนดิน วงเงินราว 8.6 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างและวงเงินลงทุนที่สูงกว่ารูปแบบ B ก็ตาม เพราะแผน B ระบบรถไฟรางเบาบนดิน ไม่เหมาะกับสภาพพื้นผิวถนนในเมืองที่มีลักษณะแคบมาก หากนำ Tram มาวิ่งจะทำให้เสียช่องจราจร ทั้งยังมีความต้องการของชาวท้องถิ่นที่อยากอนุรักษ์สถาปัตยกรรมรอบคูเมืองและเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ไว้ และการเวนคืนพื้นที่ก็มีจำนวนไม่มากเพื่อใช้ก่อสร้างทางขึ้นและทางลงไปยังสถานีใต้ดินเท่านั้น
รายงานข่าวจาก สนข. ระบุว่า โครงการมี 3 เส้นทางหลัก ใช้เวลาสร้าง 2 – 3 ปีต่อหนึ่งเส้นทาง ประกอบด้วย
1. สายสีแดง (ศูนย์ราชการฯ-สนามบิน-แม่เหียะ) ระยะทาง 12 กม.
เส้นทางเริ่มต้นจากแยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซีหางดง) – สนามบินเชียงใหม่ – เซ็นทรัลแอร์พอร์ต – ม.เชียงใหม่ (สวนดอก) – รพ.มหาราชฯ – วัฒโนทัยพายัพ – สถานีขนส่งช้างเผือก – ม.ราชภัฎเชียงใหม่ – สนามกีฬาสมโภช 700 ปี – ศูนย์ประชุมฯนานาชาติ – รพ.นครพิงค์

2. สายสีน้ำเงิน (สวนสัตว์เชียงใหม่-ท่าแพ-ดอนจั่น) ระยะทาง 11 กม.
เส้นทางเริ่มต้นจากสวนสัตว์เชียงใหม่ – ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา – ม.เชียงใหม่ นิมมานเหมินทร์ – วัดพระสิงห์ฯ – อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ – ยุพราชวิทยาลัย – ประตูท่าแพ – ไนท์บาซ่าร์ – ตลาดอนุสาร – ตลาดสันป่าข่อย – สถานีรถไฟเชียงใหม่ – บิ๊กซีดอนจั่น – พรอมเมนาดา

3. สายสีเขียว (แม่โจ้-กาดหลวง-สนามบิน) ระยะทาง 12 กม.
เส้นทางเริ่มต้นจากสนามบินเชียงใหม่ – ม.ฟาร์อีสเทิร์น – เซ็นทรัลแอร์พอร์ต – ตลาดหนองหอย – มงฟอร์ตวิทยาลัย – เรยีนาร์เซรีวิทยาลัย – ตลาดอนุสาร – ไนท์บาซาร์ – กาดหลวง – ปริ้นซ์รอแยลวิทยาลัย – ดาราวิทยาลัย – รพ.แมคคอร์มิค – สถานีขนส่งอาเขต – เซ็นทรัลเฟสติวัล – แยกแม่โจ้ – สี่แยกรวมโชค
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการร่วมทุนแบบ (Private Public Partnership – PPP) ซึ่งเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ใกล้เสร็จแล้ว คาดว่าจะได้ตัวที่ปรึกษาภายในปีนี้ ก่อนเสนอผลศึกษาเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อถอดแบบและเปิดประมูลโครงการช่วงต้นปี 2563 โดย รฟม.จะก่อสร้างรถไฟฟ้า Tram สายสีแดงก่อน จากนั้นจะก่อสร้างสายสีเขียวและสายสีน้ำเงิน
“รูปแบบการบริหารจราจรเมื่อก่อสร้าง Tram จะต้องร่วมมือกับท้องถิ่นจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อปรับผังการจราจร รวมถึงปรับเพิ่มเส้นทางเดินรถทางเดียวตามแนวการก่อสร้าง ตลอดจนปิดเส้นทางจราจรในบางจุด เพราะต้องใช้พื้นที่เปิดหน้างานก่อสร้างทางขึ้นและทางลงในแต่ละสถานี ถือว่าปัญหาการจราจรจะเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญ” นายภคพงศ์ กล่าว

ขอบคุณภาพจากเพจ Chiang Mai Public Transit Master Plan #เชื่อมเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น