ภูมิปัญญาผ้าพื้นเมือง ล้านนา มากกว่ามูลค่าคือชีวิตที่มีรากเหง้า

กว่าสังคมมนุษย์จะเรียนรู้กรรมวิธีนำฝักฝ้ายมาแคะแกะเมล็ดออกเหลือเพียงเส้นใยฝ้ายแล้วนำมาทำให้พองเป็นปุยพันปั่นเป็นเส้นใยยาวราวเรียงแต่ละเส้น ถักทอร้อยจนเป็นผืนผ้าเพื่อนุ่งห่ม ต้องใช้เวลานานหลายชาติดังนั้นผ้าทอจึงสื่อถึงอัตลักษณ์ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ที่มาของแต่ละชุมชน ผ่านวัฒนธรรมการทอผ้า ที่มีเส้นสาย ลาย สีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นฐานเป็นการสืบทอดความคิด ความเชื่อแบบแผนทางสังคมจากรุ่นสู่รุ่น กรรมวิธีการรังสรรค์ผ้าพื้นบ้านขึ้นมา แต่ละถิ่นแตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้ว มักจะมีการกี่ ทอผ้าเป็นพื้น อาจทอด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าพื้นบ้านในภาคต่างๆ มีกรรมวิธีการย้อม การทอสอดคล้องกับขนบประเพณี วิถีชีวิตชุมชนและประโยชน์ใช้สอย เช่น ผ้าซิ่น ,ย่าม, ผ้าขาวม้า, ตุง โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ถ้า ผ้าพื้นบ้านภาคกลาง ผู้คนมักจะรู้จักผ้าซิ่นตีนจก ของชาวไทยเชื้อสายลาวพวนบ้านหาดเสี้ยวอ.ศรีสัชนาลัย สุโขทัย นิยมต่อหัวซิ่นสองชั้นด้วยผ้าพื้นสีแดงและขาวตัวซิ่นทอลวดลายขวางลำตัวตีนซิ่นนิยมทอลายจกด้วยสีสด เช่น สีแดง เหลือง ส้ม เป็นลวดลายไปจนสุดเชิงซิ่นหรือสุดตีนซิ่น
ผ้าพื้นบ้านอีสาน คงไม่มีใครไม่รู้จักผ้ามัดหมี่ ผ้าที่ทอเป็นลวดลายโดยการมัดเส้นด้าย หรือเส้นไหม แล้วย้อมให้เป็นสีต่างๆ นำไปทอลวดลาย ตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น เช่น ลายรูปสัตว์, เรขาคณิต, ธรรมชาติ ลสิ่งของเครื่องใช้ สำหรับผ้าพื้นถิ่นล้านนา ภาคเหนือ จะมีความก้ำกึ่งในความนิยมระหว่างผ้าฝ้ายกับผ้าไหม เช่น ผ้าซิ่นตีนจก ผ้านุ่งของผู้หญิงที่เย็บเป็นถุง ประกอบด้วยหัวซิ่นอยู่บนสุด หรือส่วนที่อยู่ตรงเอว ตัวซิ่นอยู่ถัดลงมา และตีนซิ่นหรือเชิงซิ่นซึ่งทอเป็นลวดลายด้วยการจก จึงเรียก ตีนจก ขนาดกว้างแคบและสั้นหรือยาวของตีนจก รวมถึงลวดลายตีนซิ่น สีสันจะบ่งบอกรากเหง้าที่มาของชุมชน ชาติพันธุ์เด่นชัดผ้านุ่งผู้หญิงไทยลื้อ บริเวณเชียงราย พะเยา น่าน หัวซิ่นนิยมต่อด้วยผ้าพื้นสีแดง ตัวซิ่นทอลายขวางลำตัวด้วยสีสด เป็นลายคล้ายสายน้ำ จึงเรียกว่า ลายน้ำไหล หลายปีที่ผ่านมา ผ้าพื้นเมืองได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาส่งเสริมให้นำมาใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ สถานศึกษาที่จะมีการกำหนดวันแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง ตามรูปแบบเฉพาะถิ่นนั้นๆ เช่น นครลำพูนจะนุ่งเตี่ยวสะดอ สีทึมๆ สวมเสื้อผ้าเมือง ลวดลายแปลกตา หรืออาจสวมชุดผ้าไหมยกดอกลำพูน ดูงามระยับจับตาชวนมองยิ่งนัก ส่งผลต่อกระบวนการผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมโรงงาน ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม ที่มีการย้อมสีธรรมชาติ และย้อมสีเคมี ต้องยอมรับว่าการผลิตแบบอุตสาหกรรม ด้วยการจัดเส้นไหมหรือเส้นด้ายที่ย้อมสีเสร็จแล้วมาให้ทอ เพื่อควบคุมคุณภาพ บางแห่งมีคนกลางรับซื้อผ้าจากช่างทออิสระซึ่งเป็นผู้ปั่นด้าย ย้อมสี และทอตามลวดลายที่ต้องการเองที่บ้าน แล้วคนกลางหรือผู้ประกอบการ ร้านค้า เป็นผู็กำหนดราคาในตลาดแม้จะมีความพยายามจัดตั้งกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มทอผ้าเพื่อสร้างอาชีพเสริม มีการปรับปรุงพัฒนาสีสัน คุณภาพ และลวดลาย ให้เข้ากับรสนิยมของตลาดเป้าหมายองค์ประกอบเหล่านี้ เป็นโจทย์ที่หลายภาคส่วนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า การสืบสานสืบทอดภูมิปัญญาผ้าพื้นเมือง จะดำรงคงอยู่ได้ ในชุมชนอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องผลิต สร้างสรรค์ผลงาน จากการถักทอ ร้อยใยฝ้าย เส้นไหมตามความต้องการของตลาด หรือจะเลือกการคงรักษาศิลปะ อัตลักษณ์ดั้งเดิม โดยไม่เล็งมูลค่า

เพิ่อการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ ผ้าทอพื้นบ้าน ให้คงอยู่สืบไปในศูนย์เรียนรู้ชุมชน หรือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น มากกว่าพรี้วพราย หลากหลายรูปแบบในตลาดอย่างร่วมสมัย แต่อาจมีคำถามว่า ผ้าทอล้านนา ผ้าพื้นเมืองแบบนี้ทอ..ผลิตกันที่ไหน

ร่วมแสดงความคิดเห็น