รถไฟฟ้าเชียงใหม่ ผ่านหน้าบ้านใครบ้าง มาดูกัน!!

โครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บท การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ จ.เชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดที่มากขึ้นทุกขณะ ได้นำเสนอโครงการในขั้นตอนสุดท้าย กับ สนง.นโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา สรุปได้เลือกระบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Light Rail Transit System (LRT) โดยมี 2 ทางเลือกคือ แผน A ระบบรถไฟรางเบาใต้ดินผสมบนดิน และแผน B ระบบรถไฟรางเบาบนดิน โดยมีระบบรองและระบบเสริมคือ รถเมล์
ล่าสุด นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟรางเบา (Tram) จ.เชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาเสร็จแล้ว พร้อมสรุปเลือกแนวทางก่อสร้างตามที่แผน A ระบบรถไฟรางเบาใต้ดินผสมบนดิน วงเงินราว 8.6 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างและวงเงินลงทุนที่สูงกว่ารูปแบบ B ก็ตาม เพราะแผน B ระบบรถไฟรางเบาบนดิน ไม่เหมาะกับสภาพพื้นผิวถนนในเมือง ที่มีลักษณะแคบมาก หากนำ Tram มาวิ่งจะทำให้เสียช่องจราจร ทั้งยังมีความต้องการของชาวท้องถิ่น ที่อยากอนุรักษ์สถาปัตยกรรม รอบคูเมืองและเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ไว้ และการเวนคืนพื้นที่ ก็มีจำนวนไม่มาก เพื่อใช้ก่อสร้างทางขึ้นและทางลง ไปยังสถานีใต้ดินเท่านั้น
รายงานข่าวจาก สนข. ระบุว่า โครงการมี 3 เส้นทางหลัก ใช้เวลาสร้าง 2 – 3 ปีต่อหนึ่งเส้นทาง ประกอบด้วย
1. สายสีแดง (ศูนย์ราชการฯ-สนามบิน-แม่เหียะ) ระยะทาง 12 กม.
เส้นทางเริ่มต้นจากแยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซีหางดง) – สนามบินเชียงใหม่ – เซ็นทรัลแอร์พอร์ต – ม.เชียงใหม่ (สวนดอก) – รพ.มหาราชฯ – วัฒโนทัยพายัพ – สถานีขนส่งช้างเผือก – ม.ราชภัฎเชียงใหม่ – สนามกีฬาสมโภช 700 ปี – ศูนย์ประชุมฯนานาชาติ – รพ.นครพิงค์

2. สายสีน้ำเงิน (สวนสัตว์เชียงใหม่-ท่าแพ-ดอนจั่น) ระยะทาง 11 กม.
เส้นทางเริ่มต้นจากสวนสัตว์เชียงใหม่ – มทร.ล้านนา – ม.เชียงใหม่ นิมมานเหมินทร์ – วัดพระสิงห์ฯ – อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ – ยุพราชวิทยาลัย – ประตูท่าแพ – ไนท์บาซ่าร์ – ตลาดอนุสาร – ตลาดสันป่าข่อย – สถานีรถไฟเชียงใหม่ – บิ๊กซีดอนจั่น – พรอมเมนาดา
3. สายสีเขียว (แม่โจ้-กาดหลวง-สนามบิน) ระยะทาง 12 กม.
เส้นทางเริ่มต้นจากสนามบินเชียงใหม่ – ม.ฟาร์อีสเทิร์น – เซ็นทรัลแอร์พอร์ต – ตลาดหนองหอย – มงฟอร์ตวิทยาลัย – เรยีนาเชรีวิทยาลัย – ตลาดอนุสาร – ไนท์บาซาร์ – กาดหลวง – ปรินส์รอแยลวิทยาลัย – ดาราวิทยาลัย – รพ.แมคคอร์มิค – สถานีขนส่งอาเขต – เซ็นทรัลเฟสติวัล – แยกแม่โจ้ – สี่แยกรวมโชค

ความคืบหน้าล่าสุดครม.อนุมัติแล้ว! “รถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่” เริ่มสร้างปี 64 อ่านต่อจิ้มเลย https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/800130

ขอบคุณ : Chiang Mai Public Transit Master Plan #เชื่อมเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น