สวนสัตว์เชียงใหม่ ประสบความสำเร็จ ในการขยายพันธุ์สัตว์ 3 ชนิด คือ ออริกซ์เขาดาบ

ลูกเก้งเผือก และลูกค่างห้าสี พร้อมกันนี้ก็ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ ม้าลายเพศเมียที่ทางสวนสัตว์ดุสิต มอบให้จำนวน 1 ตัว
เมื่อวันที่ 17 ก.ค.61 นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผอ.สวนสัตว์เชียงใหม่ นำสื่อมวลชนเข้าชมผลความสำเร็จของการขยายพันธุ์ สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของ สวนสัตว์เชียงใหม่ ที่สัตว์ 3 ชนิด ออกลูกในวันและเวลาใกล้เคียงกัน โดยสัตว์ที่เป็นสมาชิกใหม่ของสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้แก่ ออริกซ์เขา ดาบ ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในทวีปแอฟริกา 1 ตัว เกิดเมื่อวันที่ 1 ก.ค.61
เบื้องต้นมีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ดี อยู่ในความดูแลของ จนท.และสัตวแพทย์ ประจำสวนสัตว์เชียงใหม่ ปัจจุบันมี ออริกซ์เขาดาบ ทั้งหมดจำนวน 5 ตัว เพศผู้ 3 ตัว เพศเมีย 1 ตัว และลูกน้อยตัวที่เพิ่งเกิด อีก 1 ตัวยังไม่ทราบเพศ
ส่วนสัตว์ชนิดที่สองคือ ลูกเก้งเผือก เพศผู้ เกิดเมื่อวันที่ 14 ก.ค.61 ซึ่งเกิดจากเก้งเผือก คุณพุด(เป็นลูก “คุณเพชร” เก้งเผือกพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้นำมาเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต เพศผู้ อายุ 11 ปี และเก้งเผือกธรรมดาแม่อิงอิง เพศเมีย อายุ 7 ปี ปัจจุบันสวนสัตว์เชียงใหม่ มีเก้งเผือก จำนวน 3 ตัว
สำหรับลักษณะทั่วไปของเก้งเผือก เหมือนเก้งธรรมดาแต่มีสีขาวปลอดทั้งตัว ถิ่นอาศัย พบในอินโดจีน อินโดนีเซีย จีนตอนใต้ ศรีลังกา อินเดีย สำหรับในประเทศไทยพบทุกภาค เก้งเผือกกินหญ้า ใบไม้ และผลไม้ พฤติกรรมและการขยายพันธุ์ปกติ ชอบอยู่ตามลำพังตัวเดียว หากินตอนเย็นถึงเช้าตรู่ กลางวันหลบนอนตามพุ่มไม้ ปราดเปรียว เวลาตกใจ จะส่งเสียงร้องคล้ายเสียงสุนัขเห่า เก้งเผือกเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 1 ปีครึ่ง ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูหนาว ตั้งท้องนาน 6 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว อายุยืนราว 15 ปี สภาพปัจจุบัน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

ส่วนสัตว์ชนิดที่สามคือ ลูกค่างห้าสีเกิดจากแม่ชื่อ“น้องล้า” อายุ 10 ปี และพ่อชื่อ “บูบู้” อายุ 10 ปี ปัจจุบันสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้มีสมาชิกค่างห้าสี 9 ตัว ตัวผู้ 5 ตัว/ ตัวเมีย 3 ตัว และเพิ่มตัวที่เกิดใหม่ยังไม่ทราบเพศ รวมเป็น 9 ตัว สำหรับค่างห้าสีนั้น เป็นสัตว์ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว จากการที่มีสีสันสวยสะดุดตา ตามตัวสีตัดกันถึง 5 สี ตัวและหัวมีสีเทา ตรงหน้าผาก มีสีเทาดำออกแดง หนวดเคราสีขาว หางและก้นสีขาว ผิวหน้าเหลือง ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมียราว 2 เท่า และมีขนเป็นพู่ที่เอวทั้ง 2 ข้าง ซึ่งตัวเมียไม่มี
ชอบนอนเป็นส่วนใหญ่ หลังจากกินอาหารแล้ว เลี้ยงยาก ลูกเป็นสีทองเหมือนค่างทั่วไป ขณะที่ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติพบในป่าดิบชื้นของประเทศลาว และประเทศเวียดนามทางตอนเหนือ มีนิสัยเงียบขรึม ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง มีการสืบพันธุ์ที่ไม่แน่นอน ตั้งท้องประมาณ 196 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และจะกินผักผลไม้เป็นอาหาร ทั้งนี้ นอกจากสวนสัตว์เชียงใหม่แล้ว สามารถชมค่างห้าสีในประเทศไทยได้ที่สวนสัตว์ ดุสิต และสวนสัตว์เปิดเขาเขียว
ส่วนสมาชิกใหม่อีก 1 ตัวคือ ม้าลายเพศเมียที่ทางสวนสัตว์ดุสิตนำมามอบ ให้เพื่อนำมาจัดแสดง ในส่วนจัดแสดงสัตว์แอฟริกา สำหรับม้าลายเป็นม้าจำพวกหนึ่ง ที่มีขนาดเล็กกว่าม้า แต่มีปลายหางคล้ายลา มีแผงคอที่สั้นเหมือนขนแปรง มีลักษณะเด่น คือ มีลำตัวเป็นสีขาวสลับดำตลอดทั้งตัว ซึ่งสีอันโดดเด่นนี้ เป็นคำถามมาเป็นระยะเวลานานแล้วว่า แท้ที่จริงแล้วม้าลายเป็นสัตว์ที่มีพื้นลำตัวขาวและมีแถบสีดำพาดผ่าน หรือเป็นสัตว์ที่มีพื้นลำตัวสีดำ และมีแถบสีขาวพาดผ่านกันแน่ ในความเชื่อของชาวพื้นเมืองแอฟ ริกา เชื่อว่า ม้าลายเป็นสัตว์ที่มีสีดำและมีแถบสีขาวพาดผ่าน พบทั่วไปในทวีปแอฟริกาแถบที่ราบโล่งทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา
โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด และแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดย่อย ในอดีตการจำแนกแบ่งประเภทของม้าลายแบ่งออกได้เป็นกว่า 10 ชนิด และแบ่งออกตามถิ่นที่อยู่อาศัย แต่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียง 3 ชนิด และไม่สามารถแบ่งได้ตามที่อาศัยได้เหมือนเดิมอีกแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมและสภาวะความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป ชอบอาศัยอยู่ตามที่ราบโล่งที่เป็นหญ้า มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งมีหลายร้อยตัวจนถึงเป็นพัน โดยจะเล็มหญ้าหากินร่วมกับสัตว์อื่นในทุ่งกว้าง ดังนั้นถ้าหากนักท่องเที่ยวท่านใดต้องการมาชมความน่ารักของสัตว์ทั้ง 3 ชนิด สามารถมาชมได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้เชิญชวนน้องๆ ร่วมกิจกรรมประกวดตั้งชื่อลูกสัตว์เกิดใหม่ทั้ง 3 ชนิดด้วย เพื่อชิงรางวัลเงินสด จำนวน 2,000 บาท(ต่อ 1 ชนิด) และบัตรเข้าชม สวนสัตว์เชียงใหม่ ฟรี 1 ปี ติดตามข่าวสารได้จากเว็บไซต์สวนสัตว์เชียงใหม่

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ 053-221179, 053-358116 และ www. chiangmai.zoothailand.org ทุกวันเวลาราชการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น