ใครมีนิสัยกินบุฟเฟ่ต์-หมูกระทะ เจอภาวะเสี่ยงสูงโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่-ไส้ตรง

จากการเก็บข้อมูลอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ และไส้ตรง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 10,624 ราย ในปี 2554 มาอยู่ที่ 12,563 ราย ในปี 2557 โดยมีการคาดการณ์ว่า หากไม่มีนโยบายการคัดกรองมะเร็งลําไส้ใหญ่อย่างจริงจัง จํานวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี มาอยู่ที่ 21,188 ราย
จากอัตราการเจ็บป่วยข้างต้น ส่งผลต่อเนื่องถึงยอดผู้เสียชีวิต จากโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง มากกว่า 3,000 รายต่อปีอีกด้วย!! ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงของโรคมะเร็งลำไส้ ที่ลุกลามเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่ต้องยกระดับเป็น ‘นโยบายสาธารณะ’ นำมาสู่การประชุมยกร่างมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย “การแก้ปัญหา ป้องกัน และควบคุมมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนักอย่างมีส่วนร่วม”
ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รอง ผอ.ด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ มาจาก 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอื่นๆ 2.น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออยู่ในภาวะอ้วน 3.ขาดการออกกําลังกาย 4.สูบบุหรี่ 5.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจํา 6.มีประวัติเนื้องอกที่ผนังลําไส้ใหญ่และไม่ใช่เนื้อร้าย 7.ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก
สถาบันมะเร็งฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นการหารือไปที่สาเหตุเฉพาะอันดับต้นๆ ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ซึ่งน่าวิตกกังวลมากที่สุด นั่นคือการรับประทานอาหารประเภท เนื้อแดง (Red meat) หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอื่นๆ (Processed meat) ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่นิยม โดยเฉพาะเมื่อมีกระแสบุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง ยิ่งกระตุ้นการบริโภคมากขึ้นไปอีก และมองข้ามอันตราย เนื่องจากเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปใส่สารไนเตรทและไนไตรท์หรือดินประสิว เพื่อให้เนื้อสัตว์มีสีแดง รวมทั้งในกุนเชียง ไส้กรอก เบคอน เนื้อเค็ม ลูกชิ้น แหนมสด ปลาแห้ง เนื้อแห้ง เป็นต้น เพื่อให้มีอายุยาวนานขึ้น
ดร.ศุลีพร ย้ำว่า แม้จะมีประโยชน์ในการถนอมอาหาร แต่สารไนเตรทและไนไตรท์ ก็มีโทษเช่นเดียวกัน เพราะสารชนิดนี้ จะทําปฏิกิริยากับสารประกอบเอมีนในอาหาร ร่วมกับสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะ ทําให้เกิดไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และถ้านำไปปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ก็จะมีสาร PAHs ซึ่งก่อมะเร็งที่เพิ่มขึ้นไปอีก

“การบริโภคแม้ปริมาณน้อย แต่หากบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ย่อมมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง” คนไทยช่วงอายุ 18-34.9 ปี นิยมบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ และช่วงอายุ 13-17.9 ปี นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป
สถาบันมะเร็งฯ อ้างอิงงานวิจัยของ องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) เมื่อปี 2558 ที่จัดให้เนื้อแดงเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2 A คือ มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในคน ส่วนเนื้อแปรรูปจัดเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 1 มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งในคน
ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ออกมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลผู้บริโภค โดย สนง.คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กําหนดปริมาณใช้เกลือไนเตรท หรือไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมัก ให้มีเกลือโซเดียมไนไตรท์ได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และโซเดียมไนเตรทได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม กรณีที่ใช้ทั้งโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไนเตรท ให้มีปริมาณรวมกันได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตตัวอักษรหลังฉลาก คือ INS (International Numbering System) ซึ่งเป็นเลขประจําตัวที่ใช้เป็นสากลของวัตถุเจือปนอาหาร โดย INS 250 คือโซเดียมไนไตรท์ และ INS 251 คือโซเดียมไนเตรท
ส่วนในผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป ดร.ศุลีพร ระบุว่า ไม่ได้เป็นอาหารหลัก จึงไม่มีรายงานปริมาณการบริโภคที่เหมาะสมหรือปริมาณการบริโภคที่บ่งชี้โรคมะเร็ง แต่มีรายงานว่าการบริโภคเนื้อแปรรูป เพิ่มขึ้นวันละ 50 กรัม จะเพิ่มความเสี่ยง 18%

โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้รณรงค์ให้คนตื่นตัวเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ที่มาจากการบริโภคอาหารมาหลายปี แต่กลับไม่ได้สร้างความตระหนักรู้มากนัก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงคือการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำ ยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ต่างจากบุหรี่หรือสุราที่คนเห็นโทษชัดเจน จึงต้องปรับแผนมาใช้กลไกของสมัชชาสุขภาพ เพื่อระดมเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและสื่อมาร่วมมือกันแก้ปัญหา
โดยแนวทางการรณรงค์ ต้องเน้นให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะ ลดหรือหลีกเลี่ยงเนื้อแดงและเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนแปรรูป ทั้งแบบอุตสาหกรรมและการผลิตแบบชุมชนที่ไม่มีมาตรฐาน รวมถึงเนื้อสัตว์ปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม หรือทอดด้วยน้ำมันทอดซ้ำ รวมถึงให้ความรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมของมะเร็งต่างๆ เช่น การไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน และการสูบบุหรี่ ขณะเดียวกันต้องให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้คนนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องด้วย โดยเฉพาะการบริโภคเนื้อแดงต้องไม่ควรมากกว่า 500 กรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่หลายประเทศใช้อ้างอิง
ในขณะเดียวกัน จะต้องร่วมมือกับผู้ผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป ให้ติดฉลากให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นข้อมูลได้ง่ายว่ามีไนเตรทและไนไตรท์มากน้อยอย่างไร เพื่อตัดสินใจเลือกซื้อโดยยึดหลักเกณฑ์ของ อย.เป็นหลัก อาทิ ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมักที่กำหนด ให้มีเกลือโซเดียมไนไตรท์ได้ปริมาณไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และโซเดียมไนเตรทได้ปริมาณไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ข้อมูล : MOREMOVE

ร่วมแสดงความคิดเห็น