การฝึกซ้อมเต็มรูปแบบ ตามแผนฉุกเฉิน ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ประจำปี 2561 (CEMEX 2018)

​ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉินกรณีเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ โรคติดต่อและการกักกันโรค เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง ในฐานะประตูเข้าสู่ประเทศ

​เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 เวลา 00.01 น. นายมนัส ขันใส ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิด การฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2561 ซึ่งท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ในฐานะท่าอากาศยานที่ให้บริการอากาศยานพาณิชย์ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ จัดขึ้นตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 82 ว่าด้วยระบบการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน และตามมาตรฐานสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO)
ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ในภาคผนวกที่ 14 ตอนที่ 7 ว่าด้วย “การวางแผนรับเหตุฉุกเฉินของท่าอากาศ ยาน” DOC 9137 กำหนดให้ท่าอากาศยานต้องมีแผนฉุกเฉิน พร้อมทั้งให้ดำเนินการฝึกซ้อมบนโต๊ะจำ ลอง (Table-top Exercise) อย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง ยกเว้นในช่วงเวลา 6 เดือน ที่ดำเนินการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบการฝึกซ้อมบางส่วน (Partial Exercise) อย่างน้อยปีละครั้ง สำหรับในปีที่ไม่มีการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบ หรือแล้วแต่กำหนด และการฝึกซ้อมเต็มรูปแบบ (Full-scale Exercise) อย่างน้อย 2 ปีต่อครั้ง กอรปกับนโยบายด้านความปลอดภัย ของ ทอท.ได้กำหนดให้ท่าอากาศยาน ในกำกับดูแลทุกแห่ง ฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเป็นประจำทุกปีงบประมาณ
เพื่อทดสอบความรวดเร็ว ถูกต้อง และความชำนาญเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงาน การวางแผน การควบคุมและสั่งการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนทดสอบ ขีดความสามารถของเครื่องมือและอุปกรณ์เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การดับเพลิงและกู้ภัย การแพทย์ ข่ายการติดต่อสื่อสารและการประสานงาน เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้มาใช้บริการ ผู้โดยสารและสายการบิน ​ด้าน น.ต.มณธนิก รักงาม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า การฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉินในปีนี้ ได้ดำเนินการฝึกซ้อมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในบทที่ 13 กรณีเหตุฉุกเฉิน ทาง การแพทย์ โรคติดต่อ และการกักกันโรค เนื่องจากปัจจุบันมีโรคระบาด และโรคติดต่ออันตรายหลายโรค ที่องค์การอนามัยโลกเฝ้าระวัง โดยบางโรคยังไม่มียารักษาและบางโรคเมื่อเกิดขึ้นแล้ว อาจทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต เป็นวงกว้าง ซึ่งถือเป็นความเสี่ยง และเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งต่อประเทศชาติ
โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุข และ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในการฝึกซ้อม ได้สมมุติสถานการณ์ อากาศยานแบบ Airbus 320-200 ของสายการบิน Moto Airways เที่ยวบินที่ MA555 มีผู้โดยสาร 100 คน และลูกเรือ 6 คน เดินทางจากประเทศ Money ปลายทาง ทชม. ขณะทำการบินลูกเรือพบว่ามีผู้โดยสารชาย 1 คน ป่วยมีไข้สูง หายใจหอบเหนื่อย เจ็บคออย่างรุนแรง อาการทรุดลงตามลำดับ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากการสอบถามภรรยาผู้เสียชีวิต ทราบว่าทั้งสองคนเดินทางมาจากประเทศ Money ซึ่งองค์การอนามัยโลก ประกาศว่าเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์ส จึงสันนิษฐานว่าผู้เสียชีวิต ​น่าจะได้รับเชื้อดังกล่าว ต่อมาภรรยาของผู้เสียชีวิต เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ จึงได้แจ้งต่อลูกเรือ และลูกเรือได้ปฏิบัติตามขั้นตอนโรคติดต่ออากาศยาน พร้อมกับแจ้งข่าวให้แก่ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ หลังรับแจ้งเหตุ ทชม.ได้แจ้ง ไปยังผู้เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมประเมินสถานการณ์ ก่อนประกาศใช้แผนฉุกเฉินบทที่ 13 เหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ โรคติดต่อ และการกักกันโรค และนำเครื่องบินลำดังกล่าวเข้าจอดที่หลุมจอด Isolate Parking
จากนั้นเจ้าพนักงานสาธารณสุข จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสวมชุดและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ขึ้นไปคัดแยกผู้โดยสารบนอากาศยาน ตามระดับความเสี่ยง และตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วย Thermoscan แบบ Handheld โดยนำผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงสูง ไปยังจุดคัดกรองเพื่อซักประวัติและตรวจเพิ่มเติม พร้อมดำเนินพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ก่อนนำส่งไปยังโรงพยา บาล สำหรับกักโรคตามที่สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กำหนดไว้ต่อไป การฝึกซ้อมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกหน่วย ที่เข้าร่วมทำการฝึกซ้อม อาทิ หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขในจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลกองบิน 41 ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ สายการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ ที่ได้ให้การสนับสนุนอากาศยานและบุคลากรเข้าร่วมฝึกซ้อม ครบตามองค์ประกอบ ที่กำหนดไว้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทชม.
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การฝึกซ้อมในครั้งนี้ นอกจากสร้างความพร้อมของทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ยังจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสารและผู้ที่เข้ามา ใช้บริการ ตลอดจนประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ว่า ทชม.มีขั้นตอนการดำเนินงานที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ สามารถรับมือและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง ในฐานะเป็นหนึ่งในช่องทางหลักที่จะเข้าสู่ประเทศ อันจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น