สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯหน่วยงานดาราศาสตร์วิทยุชั้นนำ ของสหราชอาณาจักร

เมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม 2561 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 13.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์โจเดรลล์แบงค์ หน่วยงานดาราศาสตร์วิทยุชั้นนำของสหราชอาณาจักร ทอดพระเนตรการปฏิบัติงานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุโลเวลล์ เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุเมอร์ลิน เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีแอลบีไอของสภาพยุโรป สำนักงานใหญ่องค์การอาร์เรย์ตารางกิโลเมตร และศูนย์การค้นพบโจเดรลล์แบงค์
โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยฟิสิกส์และดาราศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์การค้นพบโจเดรลล์แบงค์ ประธานศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์เซอร์เบอร์นาร์ด โลเวลล์ ผู้อำนวยการศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์โจเดรลล์แบงค์ ผู้บริหารองค์การอาร์เรย์ตารางกิโลเมตร และผู้บริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เฝ้าฯ รับเสด็จ

ศ.ไมเคิล การ์เรตต์ ประธานศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์เซอร์เบอร์นาร์ด โลเวล และผู้อำนวยการศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์โจเดรลล์แบงค์ ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานและนำชมการดำเนินงานและการปฏิบัติงานของหอดูดาวโจเดรลล์แบงค์ ซึ่ง เป็นหอสังเกตการณ์หลักด้านดาราศาสตร์วิทยุที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก ภายใต้การกำกับของศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์โจเดรลล์แบงค์ วิทยาลัยฟิสิกส์และดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เมืองแม็คเคลสฟิลด์ สหราชอาณาจักรหอดูดาวโจเดรลล์แบงค์ ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1945 ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี หอดูดาวแห่งนี้ได้สร้างผลงานวิจัยและค้นพบทางดาราศาสตร์มากมาย ได้แก่ การค้นพบเควซาร์ พัลซาร์ เมเซอร์ และเลนส์ความโน้มถ่วง นอกจากนี้กล้องโทรทรรศน์วิทยุของหอดูดาวโจเดรลล์แบงค์ ยังมีภารกิจสำคัญในการติดตามสัญญาณจากยานสำรวจอวกาศในยุคบุกเบิกอวกาศของโลกอัน เช่น ดาวเทียมสปุตนิก เป็นต้น กล้องโทรทรรศน์วิทยุหลักของหอดูดาวโจเดรลล์แบงค์ มีชื่อว่า “กล้องโทรทรรศน์วิทยุโลเวลล์” สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1957 เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุชนิดที่สามารถหมุนและติดตามตำแหน่งดาวบนท้องฟ้าได้ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 76 เมตร นับว่าเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในบรรดากล้องโทรทรรศน์วิทยุชนิดเดียวกัน รองจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุเอฟเฟลส์เบิร์กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 100 เมตร ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1971 ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และกล้องโทรทรรศน์วิทยุกรีนแบงค์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 100 เมตร ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1988 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุอีก 3 กล้อง ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์วิทยุมาร์ค ทู เป็นจานทรงรีขนาด 38 เมตร x 25 เมตร และกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร และ 7 เมตร

นอกจากนี้ หอดูดาวโจเดรลล์แบงค์ยังเป็นศูนย์ควบคุมและประมวลผลเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุเมอร์ลิน ซึ่งประกอบด้วย กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20-32 เมตร ที่ตั้งอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักร เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุดังกล่าว ถูกเชื่อมต่อสัญญาณเข้าด้วยกันด้วยสายใยแก้วนำแสงความเร็วสูง และใช้สังเกตการณ์วัตถุบนท้องฟ้าอย่างพร้อมเพรียงกัน ทำให้เสมือนเป็นจานรับสัญญาณที่มีขนาดใหญ่ถึง 217 กิโลเมตร นับว่าเป็นเทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการสังเกตการณ์โดยไม่จำเป็นต้องสร้างจานขนาดใหญ่ และยังสามารถเชื่อมต่อใช้งานร่วมกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีแอลบีไอของสภาพยุโรปได้อีกด้วย หอดูดาวโจเดรลล์แบงค์ นับเป็นหอดูดาวที่เก่าแก่ที่สุดและมีความสำคัญที่สุดของสหราชอาณาจักร จึงถูกเสนอเพื่อเข้ารับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการพิจารณาคัดเลือกในกลางปี ค.ศ. 2019ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กราบบังคมทูลรายงานบทบาทของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ กับการพัฒนาดาราศาสตร์ไทย ที่มีความยาวนานมาตั้งแต่ ค.ศ. 1875 ในการนี้ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณประทานโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่หน่วยงาน และบุคคลผู้มีอุปการคุณต่อวงการดาราศาสตร์ไทย และทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิจัยทางดาราศาสตร์ อันเนื่องมาจากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติของไทยกับมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ หัวข้อ การศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เมเซอร์กับวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ พัลซาร์เปลี่ยนโหมด และการพัฒนาระบบประมวลสัญญานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ

หลังจากนั้น เสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงานของ “ศูนย์การค้นพบโจเดรลล์แบงค์ (Jodrell Bank Discovery Centre)” และทอดพระเนตรการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์สำหรับเยาวชน สำหรับศูนย์การค้นพบโจเดรลล์แบงค์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวิชาการแก่ประชาชนและเยาวชน ประกอบด้วย พลาเน็ตพาวิลเลียน – อาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับระบบสุริยะ สตาร์พาวิลเลียน – อาคารเอนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ และสเปซพาวิลเลียน – อาคารจัดแสดงนิทรรศการความรู้ทางดาราศาสตร์ พื้นที่ส่วนนิทรรศการภายนอกมีสวนกาแลกซี ทางเดินดาวเคราะห์ เพื่อให้ผู้เข้าชมเดินสำรวจรูปแบบจำลองของกาแลกซีและระบบสุริยะ ผสมผสานกับความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในแต่ละปีมีผู้เข้าเยี่ยมชมมากกว่า 120,000 คน

หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปสำนักงานใหญ่องค์การอาร์เรย์ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติที่จะร่วมกันสร้างเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเป้าหมายให้มีพื้นที่รับสัญญาณมากกว่า 1 ตารางกิโลเมตร โดยจะสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเล็กและขนาดปานกลางเป็นจำนวนมาก กระจายเป็นวงกว้างถึง 3,000 กิโลเมตร และเชื่อมต่อสัญญาณเข้าหากันโดยใช้เทคนิคอินเทอร์เฟียโรเมตรี ทำให้มีความไวในการรับสัญญาณและมีความละเอียดในการรับภาพสูง และจะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่ากล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ดีที่สุดในปัจจุบันถึง 50 เท่าโครงการอาร์เรย์ตารางกิโลเมตร ได้ถูกริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 นำโดยมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร และนำไปสู่การจัดตั้งองค์การอาร์เรย์ตารางกิโลเมตร ในปลายปี ค.ศ. 2011 ปัจจุบัน โครงการอาร์เรย์ตารางกิโลเมตรเป็นความร่วมมือระหว่าง 10 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย จีน อิตาลี นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 100 หน่วยงานจากประเทศต่างๆ มากถึงกว่า 20 ประเทศที่เข้ามาร่วมกันออกแบบและพัฒนางานเทคโนโลยีเครือข่ายและวิศวกรรม การพัฒนาระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ รวมทั้งการวางยุทธศาสตร์ด้านการวิจัย คาดว่าต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาและก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 2,000 ล้านยูโร ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 15 ปี แบ่งออกเป็น ระยะแรก (ค.ศ. 2018-2023) จะมีการก่อสร้างอาร์เรย์ตารางกิโลเมตรขึ้นใน 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และ ประเทศออสเตรเลีย และระยะที่สอง (ค.ศ. 2025-2033) จะมีการสร้างจานรับสัญญาณกระจายไกลออกไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา และภูมิภาคอื่นๆ ของทวีปออสเตรเลียหลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับ เวลาประมาณ 17.00 น. นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเป็นล้นพ้น
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250

ร่วมแสดงความคิดเห็น