“วัดต้นเกว๋น” สุดยอดสถาปัตยกรรม วิหารไม้ล้านนา

เชียงใหม่ ศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศิลปวัฒนธรรม และเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาที่สำคัญยิ่งของล้านนา ดังปรากฏหลักฐานสำคัญทางด้านประวัติ ศาสตร์ว่า เคยมีการสังคายนาพระไตรปิฏกขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ของโลกและเป็นครั้งแรกในดินแดนสยาม
วัดต้นเกว๋นสร้างขึ้นประมาณ จ.ศ. 1218 (พ.ศ. 2399-2412) สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เป็นเจ้าหลวงปกครองนครเชียงใหม่ ต้นเกว๋น (ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ตามภาษาพื้นเมืองล้านนา) ซึ่งมีอยู่ในบริเวณที่ สร้างวัด จึงได้ชื่อวัดครั้งแรกว่า “วัดต้นเกว๋น” ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “วัดอินทราวาส” มาจากชื่อของ เจ้าอา วาสที่สร้างวัดผสมกับคำว่า เจ้าอาวาส (อินทร์ + อาวาส)
ความสำคัญของวัดต้นแกว๋นในสมัยก่อน เป็นสถานที่พักกระบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุจากวัดพระธาตุจอมทอง เข้ามายังเมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นประเพณีเก่าแก่ของเจ้าหลวงเชียงใหม่ วัดต้นแกว๋นแห่งนี้อยู่ในเส้นทางสายเดิม ที่ขบวนแห่จะต้องหยุดพัก เพราะในอดีตการเดินทางเข้ามายังเมืองเชียงใหม่นั้น ค่อนข้างลำบากถนนหนทางยังไม่เจริญเท่าปัจจุบัน ขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุจะต้องหยุดพักประดิษฐานที่ศาลาจตุรมุขเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้สักการะบูชา สรงน้ำสมโภช ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าปัจจุบันขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุจะไม่ได้หยุดพักที่วัดนี้แล้วก็ตาม แต่ภายในวัดยังหลงเหลือสิ่งปลูกสร้าง ที่เคยใช้เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุอยู่ ทั้งศาลาจตุรมุข, รินรองน้ำสรงหรือแม้แต่กลองปู่จ่า
วิหารสร้างเมื่อ จ. ศ. 1220 (พ. ศ. 2401) ซึ่งได้บันทึกไว้ที่ใต้เพดานด้านเหนือ ด้วยอักษรไทยยวน (ตั๋วเมือง) นายช่างผู้สร้างวิหารมีความสามารถและชำนาญการแกะสลัก เช่น ลวดลายดอก ลายรูปสัตว์ที่หน้าจั่ว และช่อฟ้า ฐานชุกชีเป็นลายรูปปั้นดอกกูด ฝาหนังด้านหลังพระประธาน เป็นซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะติดฝาผนัง พระพิมพ์แบ่งได้ 2 แบบคือ 1. แบบใบโพธิ์ปางมารวิชัยขนาด 2×4 ซม. 2. แบบนาคปรก ขนาด 3×5 ซม.
มณฑปแบบจตุรมุข เป็นศิลปกรรมแบบล้านนา ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุชั่วคราว สร้างด้วยไม้ มุงกระเบื้องขอดินเผาแบบสมัยล้านนาโบราณ บนหลังคามีช่อฟ้าและหงส์ประดับอยู่เหนือราวหลังคา ที่มุมของสันหลังคามีการปั้นรูปยักษ์ไว้ที่เหลี่ยมเสา ปัจจุบันมีร่องรอยปรากฏที่ชัดเจนมาก ในวัดยังมีเครื่องประกอบพิธีในการสรงน้ำพระบรมธาตุ รวมทั้งมีอาสน์ สำหรับตั้งโกศพระบรมธาตุ รินรองน้ำหรือสุคนสินธุธารา คือน้ำอบน้ำหอมที่ประชาชนนำมาสรงน้ำพระบรมธาตุ รวมทั้งเสลี่ยงสำหรับหามบั้งไฟหรือบอกไฟจุดบูชา ที่สมัยก่อนเรียกกันว่า “เขนัย” และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ กลองโยนหรือกลองปู่จ่า ใช้สำหรับตีในวันพระ ซึ่งจะได้ยินไปทั่วทั้ง ต.หนองควาย เลยทีเดียว วัดต้นเกว๋นถือว่าเป็นวัดที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็นวัดที่งามที่สุดในประเทศไทย ซึ่งได้รับรางวัลสถาปัตย กรรมดีเด่น ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ สมเด็จพระเทพฯ เมื่อปี 2532

ร่วมแสดงความคิดเห็น